อาการทางจมูก และไซนัส...เกิดจากโรคอะไรได้บ้าง

อาการทางจมูก และไซนัส...เกิดจากโรคอะไรได้บ้าง

รศ.นพ. ปารยะ อาศนะเสน
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล


อาการคัดจมูก รู้สึกหอบเหนื่อยง่าย ลำบากในการหายใจ หายใจไม่สุด หรือหายใจไม่ทั่วท้อง, คัน, จาม, น้ำมูกไหล ไม่ว่าไหลออกมาภายนอก หรือไหลลงคอ, ปวด แสบ หรือเจ็บบริเวณจมูก และไซนัส, ปวดศีรษะเรื้อรัง, มีกลิ่นเหม็นในโพรงจมูก หรือปาก, ความสามารถในการรับกลิ่นน้อย หรือไม่ได้กลิ่นเลย, เลือดกำเดาไหล หรือมีเสมหะปนเลือด.....เป็นอาการของโรคจมูก และไซนัสที่พบได้บ่อย และไม่จำเพาะเจาะจงกับโรคใดโรคหนึ่ง จึงต้องวินิจฉัยแยกโรคจากโรคของจมูก และไซนัสหลายโรค อาการดังกล่าว นอกจากจะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยแย่ลง แล้ว อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น เจ็บคอเรื้อรัง, คอแห้ง หรือระคายคอ, หลอดลมอักเสบ ทำให้ไอเรื้อรัง, สายเสียงอักเสบ ทำให้เสียงแหบเรื้อรัง, อาการนอนกรน และ/หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ทำให้มีอาการเพลียง่าย หรือหลับง่ายในเวลากลางวัน, ท่อยูสเตเชียน ซึ่งเป็นท่อที่เชื่อมระหว่างโพรงหลังจมูกและหูชั้นกลาง ทำงานผิดปกติ ทำให้มีอาการหูอื้อ, เสียงดังในหู, เวียนศีรษะ หรือเกิดน้ำขังในหู หรือหูชั้นกลางอักเสบ ตามมาได้ เสียงพูดอาจจะเปลี่ยนแปลงไป เป็นเสียงอู้อี้ หรือเสียงขึ้นจมูก

เนื่องจากอาการดังกล่าวเป็นอาการที่ผู้ป่วยบอกกับแพทย์ ดังนั้นการวินิจฉัยโรคที่เป็นสาเหตุของอาการดังกล่าว จำเป็นต้องอาศัย การส่องกล้องตรวจภายในจมูกและลำคอ เพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรคได้แม่นยำมากขึ้น

สาเหตุของอาการทางจมูก และไซนัส

1. โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (allergic rhinitis) หรือโรคจมูกอักเสบชนิดไม่แพ้ (non-allergic rhinitis)

2. โรคจมูกอักเสบ (rhinitis) จากการติดเชื้อ ซึ่งอาจเกิดจากเชื้อไวรัส, เชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อราก็ได้

3. โรคไซนัสอักเสบ (sinusitis) จากการติดเชื้อ ซึ่งอาจเกิดจากเชื้อไวรัส, เชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อราก็ได้

4. ผนังกั้นช่องจมูกคด (deviated nasal septum) การบาดเจ็บต่อโพรงจมูก หรือไซนัส หรือภาวะเลือดคั่งในผนังกั้นช่องจมูก (septal hematoma)

5. สิ่งแปลกปลอม (foreign body) อยู่ในโพรงจมูก ซึ่งมักพบบ่อยในเด็ก

6. เนื้องอก (tumor) ในโพรงจมูก โพรงหลังจมูกและ/หรือ ไซนัส เช่น ริดสีดวงจมูก หรือเนื้องอกชนิดร้าย

7. โรคเยื่อบุจมูกเหี่ยวฝ่อ (atrophic rhinitis)

8. ภาวะกระดูกเทอร์บิเนตด้านข้างโพรงจมูกบวมโต (inferior turbinate hypertrophy)

9. ภาวะรูเปิดของโพรงจมูกด้านหลังตีบตัน (choanal atresia)

10. ต่อมแอดีนอยด์หลังโพรงจมูกโต (adenoid hypertrophy)

11. เกิดจากยาขยายหลอดเลือดบางชนิด เช่นใช้ยาหดหลอดเลือดพ่นจมูก (topical decongestant) นานเกินไป (rhinitis medicamentosa), ยาจำพวก aspirin, nonsteroidal anti-inflammatory drugs (NSAIDS), beta-blocker (oral and ophthalmic), bromocriptine, estrogens, oral contraceptive, prazosin, methyldopa, phentolamine, guanethidine, reserpine และ tricyclic antidepressant

การรักษา อาจทำได้โดยการล้างจมูก, สูดไอน้ำร้อน, รับประทานยาหรือพ่นยาในจมูก, การผ่าตัด การฉายแสง หรือการให้ยาเคมีบำบัด แล้วแต่สาเหตุ

Last update: 11 พฤษภาคม 2559