ยาต้านลิวโคไตรอีน (antileukotrienes) และโรคทางเดินหายใจส่วนบนที่มีการอักเสบเรื้อรัง

ยาต้านลิวโคไตรอีน (antileukotrienes) และโรคทางเดินหายใจส่วนบนที่มีการอักเสบเรื้อรัง

รศ.นพ. ปารยะ อาศนะเสน
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล


โรคทางเดินหายใจส่วนบนที่มีการอักเสบเรื้อรัง เป็นโรคที่พบได้บ่อย ได้แก่ โรคจมูกอักเสบเรื้อรัง (chronic rhinitis) [ซึ่งแบ่งเป็นโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ (allergic rhinitis) และโรคจมูกอักเสบชนิดไม่แพ้ (non-allergic rhinitis)] โรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง ( chronic rhinosinusitis) และริดสีดวงจมูก (nasal polyp)

ลิวโคไตรอีน (leukotrienes) เป็นสารตัวกลางที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ ซึ่งผลิตโดยเซลล์ชนิดต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ ได้แก่ มาสต์เซลล์ (mast cell), อีโอสิโนฟิล (eosinophil), เบโสฟิล (basophil), แมคโครเฟจ (macrophage) และโมโนไซต์ (monocyte) มีการศึกษาพบว่า ลิวโคไตรอีนนั้นมีบทบาทเกี่ยวข้องกับการอักเสบเรื้อรังของเยื่อบุจมูกและไซนัส ลิวโคไตรอีนออกฤทธิ์โดยจับกับตัวรับ (leukotriene receptors) ทำให้กล้ามเนื้อเรียบของหลอดลมหดตัว, ดึงเซลล์ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบเข้ามา และทำให้เซลล์ต่างๆในหลอดเลือดออกมานอกหลอดเลือดไปสู่เนื้อเยื่อต่างๆได้มากขึ้น ทำให้เนื้อเยื่อของทางเดินหายใจบวม (มีอาการคัดจมูก) มีการหลั่งสารคัดหลั่งมากขึ้นจากการกระตุ้นต่อมสร้างน้ำมูก (มีน้ำมูก หรือเสมหะ) มีการกระตุ้นเส้นประสาท (มีอาการคัน, จาม และแสบ) ทำให้เกิดการอักเสบที่มากขึ้น และทำให้มีพังผืด (fibrosis) ในเนื้อเยื่อจมูกและ/หรือไซนัสเพิ่มมากขึ้น

ยาต้านลิวโคไตรอีน (antileukotrienes) แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ

  1. ยาที่ยับยั้งไม่ให้ลิวโคไตรอีนจับกับตัวรับ (leukotriene receptor antagonist) เช่น montelukast
  2. ยายับยั้งการสร้างลิวโคไตรอีน เช่น zileuton

ลิวโคไตรอีนในผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้

ระหว่างการเกิดปฏิกิริยาอักเสบจากภูมิแพ้ในระยะแรก (early-phase reaction) จะมีการหลั่งลิวโคไตรอีนออกมาโดยมาสต์เซลล์ และเบโสฟิล ระหว่างการเกิดปฏิกิริยาอักเสบจากภูมิแพ้ระยะหลัง (late-phase reaction) จะมีการหลั่งลิวโคไตรอีนออกมาโดยอีโอสิโนฟิล และแมคโครเฟจ ลิวโคไตรอีนในปฏิกิริยาอักเสบภูมิแพ้ที่จมูก จะทำให้เซลล์ต่างๆในเลือดออกมานอกหลอดเลือดไปสู่เนื้อเยื่อต่างๆ และทำให้เส้นเลือดของเยื่อบุจมูกขยายตัว ทำให้เยื่อบุจมูกบวมและมีอาการคัดจมูก และกระตุ้นต่อมสร้างน้ำมูก ทำให้มีอาการน้ำมูกไหล หรือน้ำมูกไหลลงคอ ลิวโคไตรอีน นั้นเด่นในการทำให้เกิดอาการคัดจมูก ในขณะที่ฮิสทามีน ซึ่งถูกหลั่งออกมา เด่นในการทำให้เกิดอาการคัน จาม น้ำมูกไหล ดังนั้นการให้ยาต้านฮิสทามีนชนิดกิน ร่วมกับ montelukast จะทำให้ครอบคลุมอาการของผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ได้มากกว่าการให้ยาต้านฮิสทามีนชนิดกิน หรือ montelukast เพียงชนิดใดชนิดหนึ่ง

มีการศึกษาพบว่า การให้ montelukast เดี่ยวๆ หรือ ให้ montelukast ร่วมกับ ยาต้านฮิสทามีนชนิดกิน สามารถช่วยลดอาการทางจมูกและตาของผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ได้ดี และทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น การให้ยาต้านฮิสทามีนชนิดกินร่วมกับ montelukast มีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการทางจมูกได้ดีกว่าการให้ยาต้านฮิสทามีนชนิดกิน หรือ montelukast เพียงชนิดใดชนิดหนึ่ง อย่างไรก็ตาม montelukast นี้มีฤทธิ์ในการลดอาการทางจมูกน้อยกว่ายาสเตียรอยด์พ่นจมูก สำหรับอาการคัดจมูก พบว่า montelukast ได้ผลในการลดอาการได้เท่าเทียมกับยาหดหลอดเลือดชนิดกิน (pseudoephedrine)

เนื่องจากราคาของ montelukast นั้นแพงกว่า ยาต้านฮิสทามีนชนิดกิน แต่ประสิทธิภาพในการรักษาโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ของ montelukast นั้นน้อยกว่าหรือเท่ากับ ยาต้านฮิสทามีนชนิดกิน จึงไม่แนะนำให้ใช้ montelukast เป็นยาหลักในการรักษาผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ที่มีโรคหืดร่วมด้วยจะได้ประโยชน์จาก montelukast เพราะ montelukast สามารถรักษาทั้งโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ และโรคหืด ทำให้อาการทางจมูกและหลอดลมดีขึ้นได้

ลิวโคไตรอีนในผู้ป่วยไซนัสอักเสบเรื้อรังและริดสีดวงจมูก

ผู้ป่วยที่กิน aspirin หรือ Non-Steroidal Anti-inflammatory Drugs (NSAID) แล้วมีอาการทางจมูกและหลอดลม [(aspirin-exacerbated respiratory disease: AERD) หรือ (NSIAD-exacerbated respiratory disease: NERD)] มักจะมีไซนัสอักเสบเรื้อรัง, ริดสีดวงจมูก และโรคหืด (aspirin-sensitive asthma) ร่วมด้วย ซึ่งโรคดังกล่าวนี้ เกิดจากมีการสร้างลิวโคไตรอีนมากผิดปกติ montelukast จึงมีบทบาทในการรักษาผู้ป่วยที่กิน aspirin หรือ NSAID แล้วมีอาการทางจมูกและหลอดลม (AERD หรือ NERD) แต่สำหรับผู้ป่วยเด็กหรือผู้ใหญ่ที่เป็นไซนัสอักเสบเรื้อรัง ที่มีหรือไม่มีริดสีดวงจมูก ที่ไม่ใช่ผู้ป่วย AERD หรือ NERD montelukast ไม่มีบทบาทในการรักษา

โดยสรุป montelukast มีบทบาทในการรักษาโรคทางเดินหายใจส่วนบนที่มีการอักเสบเรื้อรัง ดังนี้

1. โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้
- ที่มีโรคหืดร่วมด้วย เพราะ montelukast จะทำให้อาการของทั้งโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ และโรคหืดดีขึ้น (เปรียบเหมือนกระสุนนัดเดียวได้นกสองตัว)
- ที่ใช้ยาต้านฮิสทามีนชนิดกิน แล้วอาการยังไม่ดีขึ้น และผู้ป่วยปฏิเสธการใช้สเตียรอยด์พ่นจมูก โดยอาจให้ยาต้านฮิสทามีนชนิดกิน ร่วมกับ montelukast

2. โรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง และ/หรือ ริดสีดวงจมูก ในผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้ยาแอสไพริน (AERD) หรือ NSAID (NERD)

Last update: 1 กันยายน 2559