อาการคัดจมูก และความผิดปกติของการหายใจขณะนอนหลับแบบอุดกั้น (Nasal Obstruction and Obstructive Sleep-Disordered Breathing)

 

อาการคัดจมูก และความผิดปกติของการหายใจขณะนอนหลับแบบอุดกั้น
(Nasal Obstruction and Obstructive Sleep-Disordered Breathing)


รศ. นพ. ปารยะ อาศนะเสน
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

       อาการคัดจมูก เป็นอาการที่พบได้บ่อย ซึ่งอาจเป็นอาการที่พบได้ตามปกติ (ซึ่งพบเป็นส่วนน้อย ได้แก่ อาการคัดจมูกที่เกิดจากการที่จมูกทำงานสลับข้างกันตามธรรมชาติที่เรียกว่า nasal หรือ turbinate cycle หรืออาการคัดจมูกที่เกิดจากการเปลี่ยนท่าทาง เช่น นอนตะแคงแล้วคัดจมูกข้างที่นอนทับอยู่ เมื่อตะแคงไปอีกด้านหนึ่ง ด้านที่เคยคัดจะกลับโล่งขึ้น ซึ่งเกิดจากแรงดึงดูดของโลก) หรือเกิดจากโรคของจมูกหลายๆชนิด (ซึ่งพบเป็นส่วนมาก) เช่นโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้, จมูกอักเสบชนิดไม่แพ้, ริดสีดวงจมูก, ไซนัสอักเสบ, ผนังกั้นช่องจมูกคด, เนื้องอกของโพรงจมูก และ/หรือไซนัส และเป็นอาการที่พบบ่อยอีกอาการหนึ่งที่นำผู้ป่วยมาหาแพทย์ เนื่องจากมักทำให้ผู้ป่วยรำคาญ และทนทุกข์ทรมาน และมีคุณภาพชีวิตแย่ลง

      ความผิดปกติของการหายใจขณะนอนหลับแบบอุดกั้น เป็นกลุ่มอาการที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการกรน ซึ่งเป็นอาการที่บ่งบอกถึงการอุดกั้นในทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งถ้าความรุนแรงของการอุดกั้นในทางเดินหายใจมากจนกระทั่งทำให้เกิดการหยุดหายใจชั่วขณะหนึ่ง จะเกิดภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ อุบัติการณ์ของการกรนในคนไทย พบได้ประมาณร้อยละ 26.4 ส่วนอุบัติการณ์ของภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับในคนไทย พบได้ประมาณร้อยละ 11.4

      ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับมีผลกระทบที่สำคัญต่อสุขภาพ เช่น ทำให้เกิดอาการง่วงมากผิดปกติในเวลากลางวัน และมีแนวโน้มที่จะเกิดอุบัติเหตุบนถนนและในโรงงานอุตสาหกรรมได้มากถึง 2-3 เท่าเมื่อเทียบกับคนปกติ นอกจากนั้นยังมีอัตราเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น ความดันโลหิตสูง, กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด, หัวใจเต้นผิดจังหวะ, ความดันโลหิตของปอดสูง และโรคหลอดเลือดสมองด้วย ผู้ป่วยที่มีอาการนอนกรนอย่างเดียวโดยไม่มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับร่วมด้วย ถึงแม้จะไม่มีผลกระทบมากนักต่อสุขภาพของตนเอง แต่จะมีผลกระทบต่อสังคมและคุณภาพชีวิตของผู้อื่น โดยเฉพาะกับคู่นอน บุคคลอื่นในครอบครัวหรือเพื่อนบ้าน ดังนั้นการวินิจฉัยและการรักษาอย่างถูกต้องสามารถช่วยให้ผู้ป่วยกลับมามีคุณภาพชีวิตตามปกติได้ และยังสามารถป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะยาวจากโรคนี้ได้ ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติของการหายใจขณะนอนหลับแบบอุดกั้นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ มักเป็นผู้ที่อ้วน, มีประวัติครอบครัวที่มีความผิดปกติของการหายใจขณะนอนหลับแบบอุดกั้น, สูบบุหรี่, ดื่มแอลกอฮอล์, มีความผิดปกติในโครงสร้างของใบหน้า นอกจากนั้น โรคของจมูกที่ทำให้เกิดการอุดตันของโพรงจมูก กับ ความผิดปกติของการหายใจขณะนอนหลับแบบอุดกั้น พบร่วมกันได้บ่อย

ความสัมพันธ์ระหว่างจมูก และความผิดปกติของการหายใจขณะนอนหลับแบบอุดกั้น

    การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างจมูกและ OSDB เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2435 เป็นต้นมา การศึกษาต่าง ๆ ในคนปกติ พบว่า การอุดกั้นของโพรงจมูก ทำให้ผู้ป่วยต้องใช้การหายใจทางปาก แทนจมูก และทำให้ความกว้างของช่องคอลดลง และมีผลกระตุ้นให้เกิดความผิดปกติของการหายใจขณะนอนหลับแบบอุดกั้นตามมา ซึ่งอาจตื่นบ่อยขึ้น หรือมีการหลับลึกลดลง รวมถึงมีการเปลี่ยนระยะของการนอนหลับบ่อยขึ้น ผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ มีความเสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติของการหายใจขณะนอนหลับแบบอุดกั้นในระดับความรุนแรงปานกลางถึงมาก สูงถึง 1.8 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่ได้เป็นโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ การรักษาผู้ป่วยที่มีโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ด้วยยาสเตียรอยด์พ่นจมูก ทำให้คุณภาพการนอนหลับดีขึ้น


พยาธิสรีรวิทยาที่ความผิดปกติของจมูกนำไปสู่ความผิดปกติของการหายใจขณะนอนหลับแบบอุดกั้น

  1. พยาธิสภาพของจมูกที่ทำให้เกิดการอุดตันของโพรงจมูก ทำให้ผู้ป่วยต้องหายใจทางปากในขณะหลับ เนื่องจากการอ้าปากหายใจ ทำให้กล้ามเนื้อลิ้น เคลื่อนที่ไปทางด้านหลัง ส่งผลให้ช่องคอแคบลง
  2. ผู้ป่วยที่มีพยาธิสภาพของจมูก ทำให้เกิดการอุดตันของโพรงจมูกซึ่งจะมีผลทำให้เกิดความดันที่เป็นลบมากขึ้นขณะหายใจเข้า ทำให้ทางเดินหายใจช่วงคอ (รูปที่ 1) เข้ามาชิดกัน เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจมากขึ้น พบการอุดตันของโพรงจมูกเพียงบางส่วน บ่อยในผู้ใหญ่ แต่มีผลให้เกิดภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับในระดับความรุนแรงน้อยเป็นส่วนใหญ่ ผู้ป่วยที่เป็นโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ที่เป็นตามฤดูกาล มักจะมีช่วงหยุดหายใจบ่อยขึ้นในฤดูที่มีเกสรดอกไม้
    พยาธิสภาพของจมูกไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่มีผลต่อภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ แต่เป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับแย่ลง


พยาธิสภาพของจมูกที่เป็นสาเหตุของอาการคัดจมูก แบ่งเป็น 3 ประเภท

  1. ภาวะที่มีการอุดกั้นบริเวณเยื่อบุ และเนื้อเยื่ออ่อนของโพรงจมูก ซึ่งอาจเกิดจากการติดเชื้อ การอักเสบ หรือเนื้องอก สาเหตุที่เกิดจากการอักเสบที่พบบ่อยที่สุดได้แก่ โรคหวัด, ไซนัสอักเสบ และจมูกอักเสบภูมิแพ้ สาเหตุอื่นๆ ที่อาจพบได้ เช่น ริดสีดวงจมูก รวมทั้งสาเหตุอื่นๆที่ทำให้โพรงจมูกแคบลง ได้แก่ ต่อมอดีนอยด์โต สาเหตุเหล่านี้มักจะแก้ไขให้กลับสู่ภาวะปกติได้
  2. ภาวะที่มีการอุดกั้นบริเวณกระดูกแข็ง เช่น ผนังกั้นช่องจมูกคด, การผิดรูปของจมูก เนื่องจากการบาดเจ็บ หรือ ความผิดปกติในโครงสร้างของใบหน้า ภาวะเหล่านี้ต้องแก้ไขโดยการผ่าตัด
  3. สิ่งแปลกปลอมภายในจมูก

    ในเด็ก สาเหตุที่พบบ่อยของความผิดปกติของการหายใจขณะนอนหลับแบบอุดกั้นคือ ต่อมอดีนอยด์และต่อมทอนซิลโต และจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ สำหรับปัญหาเรื่องต่อมทอนซิลโตนั้น มักรักษาหายด้วยการผ่าตัด (ร้อยละ 80 ของผู้ป่วยเด็ก) ส่วนต่อมอดีนอยด์โตนั้น อาจมีผลทำให้เกิดโครงสร้างของใบหน้าผิดปกติ และเด็กที่มีอาการกรน มักจะมีประวัติโรคภูมิแพ้ และพบว่ามีการลดลงของความผิดปกติของการหายใจขณะนอนหลับแบบอุดกั้น เมื่อได้รับการรักษาด้วยยาสเตียรอยด์พ่นจมูก


การรักษาผู้ป่วยที่มีอาการคัดจมูกร่วมกับความผิดปกติของการหายใจขณะนอนหลับแบบอุดกั้น

  1. การใช้ยารักษาอาการคัดจมูก ได้แก่ ยาหดหลอดเลือด สำหรับอาการคัดจมูก ยาอื่น ๆ เช่น ยาต้านฮิสทามีน, ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก, และ การฉีดวัคซีนรักษาโรคภูมิแพ้ อาจจะช่วยในการรักษา การเลือกใช้ยาต้านฮิสทามีนนั้น ควรหลีกเลี่ยงยาต้านฮิสทามีนรุ่นแรก ซึ่งมีผลข้างเคียงทำให้ง่วง เนื่องจากอาจทำให้ความผิดปกติของการหายใจขณะนอนหลับแบบอุดกั้นแย่ลง ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก ทำให้อาการของจมูกดีขึ้น คุณภาพการนอนหลับดีขึ้น
  1. การใช้อุปกรณ์เสริมเพื่อลดอาการคัดจมูกเช่น การใช้วัสดุถ่างปีกจมูก การศึกษาถึงประโยชน์ของอุปกรณ์เสริมดังกล่าวยังมีน้อย และแต่ละการศึกษามีจำนวนผู้ป่วยไม่มาก
  1. การใช้เครื่องอัดอากาศขณะหายใจเข้า [continuous positive airway pressure (CPAP)]
    ความดันบวกจากเครื่อง CPAP ช่วยทำให้การหยุดหายใจหายไปได้ จากกลไกหลายอย่าง ได้แก่ เป็นตัวพยุง หรือดันช่องทางเดินหายใจส่วนบนไว้ ไม่ให้เนื้อเยื่ออ่อนรอบ ๆ ช่องทางเดินหายใจส่วนบนยุบตัวมาติดกัน ขณะสูดหายใจเข้า และยังช่วยลดการบวมของเยื่อบุทางเดินหายใจส่วนบน นอกจากนี้ผู้ป่วยที่ใช้ CPAP ระหว่างหลับจะปิดปาก ดังนั้นจึงลดผลที่จะเกิดขึ้นต่อทางเดินหายใจส่วนบนขณะที่เปิดปากดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น CPAP จึงมีประโยชน์และถือเป็นการรักษาที่สำคัญ แต่มีข้อจำกัดที่ทำให้ผู้ป่วยใช้ CPAP ต่อเนื่องเป็นไปได้ยาก เช่น ความไม่สบายระหว่างใส่, แผลกดทับบริเวณจมูก, เกิดอาการคัดจมูก และจมูกแห้งได้ง่าย การให้ความชื้นในโพรงจมูกจะช่วยแก้ปัญหานี้ เช่นใช้น้ำเกลือพ่นจมูกเพื่อให้ความชุ่มชื้นก่อนเริ่มใช้เครื่อง หรือใช้เครื่องปรับอากาศให้อุ่นและชื้น (humidifier) ร่วมกับการใช้ CPAP การใช้คลื่นความถี่วิทยุเพื่อลดขนาดของเยื่อบุจมูกที่บวมมาก อาจจะช่วยทำให้ผู้ป่วยทนต่อการใช้ CPAP ได้นานขึ้น
  1. การผ่าตัด การผ่าตัดรักษาอาการคัดจมูก ทำให้อาการกรนลดลง ผู้ป่วยหายใจทางจมูกได้ดีขึ้น แต่อาจไม่ได้ลดภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับลงมากนัก


ผลของการผ่าตัดจมูกต่อระดับความดันที่ใช้ในการรักษาด้วย CPAP
    การผ่าตัดจมูกทำให้ระดับความดันของ CPAP ที่ใช้ในการรักษาภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับลดลงหลังการผ่าตัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับชนิดรุนแรง และระยะเวลาในการใช้ CPAP ของผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยร่วมมือในการใช้ CPAP ดีขึ้น

    โดยสรุป อาการคัดจมูกเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดความผิดปกติของการหายใจขณะนอนหลับแบบอุดกั้น และผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของการหายใจขณะนอนหลับแบบอุดกั้น อาจมีอาการคัดจมูกร่วมด้วย ดังนั้นผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของการหายใจขณะนอนหลับแบบอุดกั้นที่ให้การรักษาแล้วไม่ดีขึ้น ยังมีอาการอยู่ ควรได้รับการประเมินว่ามีอาการคัดจมูกร่วมด้วยหรือไม่ เพราะถ้ามี การรักษาอาการคัดจมูกร่วมด้วย จะทำให้อาการของความผิดปกติของการหายใจขณะนอนหลับแบบอุดกั้นดีขึ้นได้ ไม่มากก็น้อย

คำอธิบายประกอบรูป


รูปที่ 1 ภาพ แสดงถึงลักษณะทางกายวิภาค ของคอหอย ส่วนที่สามารถเกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบนได้ง่าย เนื่องจากไม่มีอวัยวะส่วนแข็งค้ำยัน

Last update: 19 สิงหาคม 2556