โรคของข้อต่อขากรรไกร และกล้ามเนื้อบริเวณรอบๆข้อต่อขากรรไกร

โรคของข้อต่อขากรรไกร และกล้ามเนื้อบริเวณรอบๆข้อต่อขากรรไกร
(Temporomandibular Disorders)

 
 
ผศ.นพ. ปารยะ อาศนะเสน
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา   คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
 
 
                โรคนี้ไม่เพียงแต่เกิดจากความผิดปกติของข้อต่อขากรรไกร แต่อาจเกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อที่อยู่รอบๆข้อต่อขากรรไกร หรือกล้ามเนื้อที่ใช้ในการเคี้ยว เช่น กล้ามเนื้อ masseter, temporalis, lateral pterygoid ด้วย    ข้อต่อขากรรไกร เป็นบริเวณที่เชื่อมต่อระหว่างกะโหลกศีรษะและขากรรไกรล่าง    ความผิดปกติของกล้ามเนื้อบริเวณรอบๆข้อต่อขากรรไกรนี้ มักเกิดจากมีการทำงานของกล้ามเนื้อบริเวณดังกล่าวมากผิดปกติ โดยเฉพาะถ้ามีความเครียด ซึ่งจะทำให้เกิดอาการปวดและมีการอ่อนล้าของกล้ามเนื้อได้ ซึ่งอาจเกิดจากใช้กล้ามเนื้อมากเกินไป หรือใช้ผิดประเภท เช่น เคี้ยวข้างใดข้างหนึ่งมากกว่าอีกข้าง, เคี้ยวของแข็ง, มีการสบฟันที่ผิดปกติ ทำให้กล้ามเนื้อทั้ง 2 ข้างทำงานไม่สมดุลกัน   ผู้ป่วยบางรายอาจมีประวัติของการนอนกัดฟัน
 
อาการ                    - ปวดบริเวณข้อต่อขากรรไกร (หน้าหู) หรือบริเวณกล้ามเนื้อที่ใช้ในการเคี้ยว
- อ้า หรือหุบปากได้จำกัด (มีการจำกัดการความเคลื่อนไหวของขากรรไกร)
- เวลาเคลื่อนไหว ขากรรไกร แล้วมีเสียงผิดปกติที่ข้อต่อขากรรไกร เช่น เสียงคลิก หรือ เสียงกรุบกรับ
- อ้า หรือหุบปาก หรือเคลื่อนไหวขากรรไกร แล้วมีอาการเจ็บ หรือปวด
- ขากรรไกรค้าง (ไม่สามารถอ้าปากได้ หรือ อ้าปากแล้วไม่สามารถหุบได้)
- ผู้ป่วยอาจมาด้วยอาการปวดบริเวณใบหน้า ซีกใดซีกหนึ่งก็ได้
 
อาการแสดง         - เวลากด กล้ามเนื้อที่ใช้ในการเคี้ยวข้างที่เจ็บ แล้วมีอาการเจ็บ
                                - เวลากด ข้อต่อขากรรไกรข้างที่เจ็บ แล้วมีอาการเจ็บ
                                - มีการเบี่ยงเบนของขากรรไกรล่าง เวลาเคลื่อนไหว
 
 
 
 
การรักษา
 
1) รับประทานยาลดการอักเสบ และบรรเทาอาการปวด พวก nonsteroidal anti-inflammatory drugs (NSAIDs), paracetamol, ยาคลายกล้ามเนื้อ, ยาคลายกังวล (ซึ่งจะช่วยลดภาวะการทำงานมากผิดปกติของกล้ามเนื้อรอบๆข้อต่อขากรรไกร)
2) แนะนำให้รับประทานอาหารอ่อนๆ เช่น โจ๊ก, ข้าวต้ม  หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารแข็ง เช่น น้ำแข็ง หรืออาหารที่ต้องใช้แรงเคี้ยวมาก เช่น อ้อยโดยเฉพาะข้างที่เจ็บ
3) อาจใช้น้ำอุ่นประคบ กล้ามเนื้อที่อยู่รอบๆขากรรไกร
4) ควรปรึกษาทันตแพทย์เพื่อตรวจสอบการสบฟัน ว่ามีการสบฟันที่ผิดปกติ (malocclusion) ที่เป็นสาเหตุของการเคลื่อนไหวของขากรรไกรที่ไม่สมดุลกัน ทำให้ปวดบริเวณข้อต่อขากรรไกรหรือไม่
5) ถ้ามีอาการปวดมาก ทันตแพทย์ อาจพิจารณาใส่ที่ครอบฟัน (bite appliance or splints) เพื่อทำให้การสบฟันคงที่ ลดแรงกระแทกต่อข้อต่อขากรรไกรที่เป็นปัญหา ช่วยลดอาการปวดได้ดี โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีปัญหานอนกัดฟัน (bruxism)
6) ถ้าผู้ป่วยดีขึ้น อาจทำกายภาพบำบัด และกิจกรรมลดความเครียด
7) ถ้าให้การรักษาด้วยยาเต็มที่แล้วไม่ดีขึ้น ยังมีอาการปวดค่อนข้างรุนแรง หรือมีความผิดปกติภายในของข้อต่อขากรรไกร อาจพิจารณาผ่าตัดรักษา
 
_____________________________________________
 

 

Last update: 14 ธันวาคม 2552