ที่ปิดจมูกสำหรับรักษาอาการนอนกรน และ/หรือ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

 

ที่ปิดจมูกสำหรับรักษาอาการนอนกรน และ/หรือ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

(PROVENT® หรือ Nasal Expiratory Positive Airway Pressure)

 

รศ. นพ. ปารยะ อาศนะเสน
สาขาโรคจมูกและโรคภูมิแพ้
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

             

 

  

 

 

              ที่ปิดจมูกนี้เป็นทางเลือกใหม่ ทางเลือกหนึ่งในการรักษาอาการนอนกรน และ/หรือ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ที่ใช้สะดวกและง่าย และมีประสิทธิภาพ ไม่ต้องใช้หน้ากากครอบ โดยที่ปิดจมูกนี้เป็นวัสดุขนาดเล็ก ใช้ตอนกลางคืนขณะหลับ ปิดที่รูจมูกทั้ง 2 ข้าง (รูปที่ 1) โดยยึดติดด้วยเทปกาว ซึ่งแพ้ยาก ที่ปิดจมูกนี้ใช้แล้วทิ้ง มีขนาดเล็ก สามารถพกพาไปได้ง่าย โดยเฉพาะเวลาเดินทาง ไม่ต้องใช้กระแสไฟฟ้า หรือแบตเตอรี การรักษาผู้ป่วยที่มีอาการนอนกรน และ/หรือ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ด้วยที่ปิดจมูกนี้ เป็นทางเลือกใหม่ของการรักษาผู้ป่วย ซึ่งปฏิเสธการใช้เครื่องเป่าลมในทางเดินหายใจส่วนบน [continuous positive airway pressure (CPAP)], เครื่องมือทันตกรรม, การผ่าตัด หรือทนผลข้างเคียงของ CPAP หรือเครื่องมือทันตกรรมไม่ได้ ถึงแม้ CPAP เป็นการรักษามาตรฐานของอาการนอนกรนและ/หรือ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ แต่ร้อยละ 50 ของผู้ป่วยเท่านั้นที่ใช้ CPAP ได้อย่างสม่ำเสมอ

ที่ปิดจมูกนี้มีช่องเปิดเล็กๆ (microvalve) (รูปที่ 2) ให้ลมผ่านได้เวลาหายใจเข้า ขณะหายใจเข้าช่องเปิดเล็กๆนี้จะเปิด ทำให้อากาศผ่านเข้ามาสู่จมูกได้อย่างอิสระ แต่ขณะหายใจออกช่องเปิดเล็กๆนี้จะปิด แต่อากาศที่หายใจออกจะผ่านทางรูเล็กๆ 2 รู เพื่อเพิ่มความต้านทาน ทำให้เกิดความดันบวกในทางเดินหายใจส่วนต้นขณะหายใจออก (expiratory positive airway pressure: EPAP) ช่วยทำให้ทางเดินหายใจกว้าง ไม่ตีบแคบ (รูปที่ 3) โดยเฉพาะในช่วงสุดท้ายของการหายใจออก ซึ่งเป็นช่วงที่ทางเดินหายใจส่วนต้นมีการตีบแคบมากที่สุด ก่อนจะเกิดภาวะหยุดหายใจ จนกระทั่งผู้ป่วยเริ่มหายใจใหม่ ซึ่งการทำงานของ nasal EPAP จะต่างจาก CPAP เพราะ CPAP จะเพิ่มความดันในทางเดินหายใจส่วนต้นทั้งขณะผู้ป่วยหายใจเข้าและออก แต่ nasal EPAP นี้จะเพิ่มความดันในทางเดินหายใจส่วนต้นขณะผู้ป่วยหายใจออกเท่านั้น นอกจากนั้น CPAP ใช้เครื่องอัดอากาศเข้าไป ในขณะที่ nasal EPAP ใช้ลมหายใจของผู้ป่วยเอง ในการทำให้เกิดความดันบวกในทางเดินหายใจส่วนต้นขณะหายใจออก) 

Nasal EPAP เหมาะกับผู้ป่วยกลุ่มใดบ้าง

- ผู้ป่วยที่มีอาการนอนกรน และ/หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับตั้งแต่ความรุนแรงน้อยไปถึงมาก ซึ่งปฏิเสธการรักษาด้วย CPAP, เครื่องมือทันตกรรม, การผ่าตัด หรือไม่ร่วมมือในการใช้ CPAP หรือเครื่องมือทันตกรรม

- ผู้ป่วยที่มีอาการนอนกรน และ/หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับชนิดความรุนแรงน้อยถึงปานกลาง ที่ไม่มีโรคร่วมอื่นๆ

- ผู้ป่วยที่ใช้ CPAP หรือเครื่องมือทันตกรรมอยู่แล้ว ในการรักษาอาการนอนกรน และ/หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ แต่อยากหาทางเลือกอื่นในการรักษาขณะเดินทาง

ข้อบ่งชี้ของการใช้เครื่องมือชนิดนี้            -ใช้รักษาอาการนอนกรน และ/หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

ข้อห้ามใช้                 - ผู้ป่วยที่มีการหายใจผิดปกติชนิดรุนแรง เช่น กล้ามเนื้อที่ใช้หายใจอ่อนแรงหรือไม่ทำงาน,
                                      ปอดผู้ป่วยมีซีสท์หรือถุงลม (bleb), ภาวะลมรั่วในช่องเยื่อหุ้มปอด, ภาวะลมรั่วในช่องอก
                                   - โรคหัวใจชนิดรุนแรง รวมทั้งภาวะหัวใจล้มเหลว
                                   - มีความดันเลือดต่ำมาก
                                   - ภาวะที่มีการอักเสบหรือการติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนบน (เช่น จมูก
                                      อักเสบ, ไซนัสอักเสบ หรือหูชั้นกลางอักเสบ) หรือมีเยื่อบุแก้วหูทะลุ

                เครื่องมือชนิดนี้ได้รับการรับรองโดยองค์การอาหารและยา ประเทศสหรัฐอเมริกาแล้ว ผู้ป่วยบางรายใช้ CPAP หรือเครื่องมือทันตกรรมขณะอยู่บ้านและใช้ nasal EPAP ขณะเดินทาง ผู้ป่วยไม่สามารถใช้ nasal EPAP ร่วมกับเครื่อง CPAP ได้ และยังไม่มีการศึกษาถึงความปลอดภัย และประสิทธิภาพในผู้ป่วยที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปี, ผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์ หรือผู้ป่วยที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งไม่ได้เกิดจากการอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบน (central sleep apnea) จากการศึกษาทางคลินิก พบว่าที่ปิดจมูกดังกล่าวสามารถลดเสียงกรน, ลดจำนวนครั้งของการหยุดหายใจ และลดอาการง่วงในเวลากลางวัน รวมทั้งทำให้คุณภาพในการนอนหลับของผู้ป่วยที่มีอาการนอนกรนและ/หรือ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

การติดเครื่องมือที่ปิดจมูกนี้         (รูปที่ 4) ควรใช้ที่ปิดจมูกนี้ก่อนที่จะนอน โดยทำตามขั้นตอนดังนี้

1) เตรียมพร้อม           - ทำความสะอาดบริเวณรูจมูกให้แห้ง ถ้ามีขนจมูกยาว อาจต้องตัดขนจมูกส่วนที่ยื่นเลยรูจมูกออกมา
                                        - จับแผ่นที่ยึดติดของที่ปิดจมูก และลอกที่ปิดจมูกนี้ออกมาด้วยความนุ่มนวล

2) จัดตำแหน่ง            - ยืดริมฝีปากบน หรือบริเวณส่วนล่างของรูจมูกลงล่าง คล้ายเวลาโกนหนวดบริเวณเหนือริมฝีปากบน
                                       - ส่องกระจก จัดตำแหน่งให้รูหายใจตรงกลางของเครื่องมือนี้ตรงกับรูจมูก และแนว
                                          ยาวของเครื่องมือนี้ขนานกับแนวยาวของจมูก
                                        - จับติ่งของที่ปิดจมูก ให้ชี้ออกนอกไปยังลูกตาข้างเดียวกัน

3) วาง                            - เมื่อจัดตำแหน่งได้เหมาะสมแล้ว จึงปิดที่แปะเพื่อให้แนบสนิท และตรวจสอบให้
                                           แน่ใจว่าไม่มีรอยย่นเกิดขึ้น เพื่อไม่ให้อากาศรั่วออกไป โดยใช้นิ้วกดที่เทปติดโดยรอบ

4) ตรวจสอบ                 - ตรวจสอบว่าติดได้ดีหรือไม่ รูจมูกทั้ง 2 ข้าง ต้องมีที่ปิดจมูกติดอยู่
                                         - ตรวจสอบให้ดีว่า เทปปิดไม่ไปอุดกั้นรูที่ให้ลมหายใจผ่านเข้า-ออกของที่ปิดจมูกอีกข้าง
                                         - ใช้นิ้วมาอังทดสอบตรงรูเปิด และทดสอบโดยลองหายใจออกทางจมูก เพื่อตรวจสอบว่า
                                           ไม่มีการรั่วของอากาศ และไม่ควรรู้สึกว่ามีลมรั่วออกมารอบๆ เครื่องมือนี้

5) หายใจ                 
             5.1) ลองหายใจเข้าทางปาก หรือทางที่ปิดจมูก ดูว่าหายใจทางไหนรู้สึกสบายกว่ากัน ที่จะนอน
                    หลับ ก็หายใจทางนั้น
             5.2) ตรวจสอบว่าติดเครื่องมือนี้ถูกต้องหรือไม่ โดยพยายามหายใจออกทางจมูก ขณะที่ปิดปาก
                    ผู้ป่วยจะรู้สึกคล้ายมีแรงต้านทานเกิดขึ้น ซึ่งเป็นปกติ และแสดงว่าเครื่องมือนี้ทำงาน แรงต้านหรือ
                    ความดันที่เกิดขึ้นนี้ ผู้ป่วยอาจรู้สึกอึดอัดในระยะแรก โดยทั่วไป ผู้ป่วยจะค่อยๆ คุ้นเคยกับ
                    ความรู้สึกนี้ หลังใช้ไปแล้วหลายคืน (เฉลี่ย 1 สัปดาห์ หรือมากกว่า) และในที่สุดมักจะยอมรับและ
                    ร่วมมือในการใช้มากขึ้น
             5.3) หายใจออกทางปาก จนกระทั่งหลับไป เพราะจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายกว่าหายใจออกทางจมูก
                    ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่จะกลับมาหายใจทางจมูกเองโดยอัตโนมัติ หลังจากหลับแล้ว ซึ่งเครื่องมือนี้จะ
                    เริ่มทำงาน
             5.4) ควรผ่อนคลาย ไม่ควรทำกิจกรรมอื่นใด ขณะสวมเครื่องมือนี้ พยายามนอนหลับและเตรียม
                    แก้วที่มีน้ำดื่มไว้ข้างเตียง ในกรณีที่ตื่นมาแล้ว รู้สึกคอแห้ง จะได้มีน้ำไว้ดื่ม
             5.5) ใช้ที่ปิดจมูกนี้ซ้ำๆ ต่อกันทุกคืน จะทำให้ผู้ป่วยเคยชินกับการรักษาด้วยวิธีนี้ ถ้าตื่นมากลางดึก
                    แล้วรู้สึกอึดอัดก็สามารถถอดเครื่องมือนี้ออกได้ แล้วพยายามลองใหม่ในวันรุ่งขึ้น ซึ่งเหตุการณ์นี้
                    อาจจะเกิดขึ้นหลายคืน กว่าผู้ป่วยจะรู้สึกคุ้นเคยในการใช้เครื่องมือนี้
             5.6) หลังใช้ค่อยๆ ดึงที่ปิดจมูกนี้ออกจากจมูก ผู้ป่วยที่มีผิวหนังไวมากๆ ควรเอาเครื่องมือออกโดย
                    ใช้น้ำอุ่น หรือดึงออกขณะที่อาบน้ำ

คำเตือน         - ผู้ป่วยที่รู้สึกแพ้ส่วนประกอบใดๆ ของเครื่องมือชนิดนี้ เช่น อาจมีผื่น, แผลรอบๆ จมูก ควรหยุดใช้
                        - ผู้ป่วยที่ใช้เครื่องมือนี้แล้ว ไม่สามารถหายใจทางปาก หรือรู้สึกอึดอัดมาก เมื่อหายใจผ่านทาง
                          เครื่องมือนี้ หรือมีเลือดกำเดาไหล ควรหยุดใช้
                        - ไม่ควรใช้เครื่องมือ 1 ชิ้น ยาวนานมากกว่า 1 คืน ควรใช้คืนเดียวแล้วทิ้ง เพราะการใช้ซ้ำๆ หลายๆ
                          คืน จะทำให้เทปติด ลดความแน่น ทำให้อาจมีลมรั่วออกมา ทำให้ประสิทธิภาพในการใช้งานลดลง

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้       - ปากแห้ง, คอแห้ง, ริมฝีปากแห้ง
                                                          - น้ำมูกไหล, คัดจมูก
                                                          - รู้สึกอึดอัดในจมูก, ไซนัส, คอ, หู และอาจมีเลือดกำเดาไหล
                                                          - ปวดศีรษะ
                                                          - แพ้ เช่น ผิวหนังที่มีปิด เกิดการระคายเคือง
                                                          - นอนหลับยาก รู้สึกกังวล
                                                          - เวียนศีรษะ

_______________________________________________________________________________

 

Last update: 13 มีนาคม 2557