หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน (Acute Otitis Media)

หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน (Acute Otitis Media)


รศ. นพ. ปารยะ อาศนะเสน
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล



       โรคหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน (acute otitis media) เป็นโรคที่มีการอักเสบของหูชั้นกลาง ซึ่งอยู่ระหว่างหูชั้นนอก และหูชั้นใน และเป็นโรคที่พบได้บ่อยในเด็ก เนื่องจากภูมิต้านทานของเด็กยังน้อย และยังเจริญไม่เต็มที่  และเด็กมีอุบัติการณ์ของโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจสูงเช่น โรคเยื่อบุจมูกอักเสบเฉียบพลัน (acute rhinitis) หรือโรคหวัด (common cold), โรคไซนัสอักเสบ (rhinosinusitis), โรคต่อมอดีนอยด์อักเสบ (adenoiditis) และ เชื้อโรคที่เป็นสาเหตุของหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน ซึ่งอาจจะเป็นเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรีย มักจะผ่านจากจมูก และ โพรงหลังจมูก เข้าสู่หูชั้นกลางผ่านทางท่อยูสเตเชียน ซึ่งเป็นท่อที่เชื่อมระหว่างโพรงหลังจมูก (nasopharynx) และหูชั้นกลาง

    ในเด็กเล็ก ท่อยูสเตเชียนนี้ มักจะอยู่ในแนวขนานกับแนวราบ (ทำมุมกับแนวราบเพียงเล็กน้อย) ต่างจากผู้ใหญ่ ซึ่งท่อยูสเตเชียนทำมุมกับแนวราบมากกว่า  นอกจากนั้นท่อยูสเตเชียนของเด็กสั้นกว่าท่อยูสเตเชียนของผู้ใหญ่ ทำให้เชื้อโรคจากจมูก และโพรงหลังจมูก เข้าสู่หูชั้นกลางของเด็กได้ง่ายกว่าในผู้ใหญ่ ทำให้พบโรคหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลันในเด็กมากกว่าในผู้ใหญ่นอกจากนั้น การสั่งน้ำมูกแรงๆ, การดำน้ำ, การว่ายน้ำขณะที่มีการอักเสบในโพรงจมูก หรือโพรงหลังจมูก จะทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อในหูชั้นกลางง่ายขึ้น

    โรคหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลันนี้ ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องจะทำให้มีน้ำขังในหูชั้นกลาง (otitis media with effusion) หรือ แก้วหูทะลุ (tympanic membrane perforation) เกิดหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง (chronic otitis media) รวมถึงมีภาวะแทรกซ้อนต่างๆตามมาได้เช่น โพรงกระดูกมาสตอยด์อักเสบเฉียบพลัน (acute mastoiditis), หูชั้นในอักเสบ (acute labyrinthitis), ฝีหลังหู  (subperiosteal abscess), อัมพาตของกล้ามเนื้อใบหน้า เนื่องจากเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 มีการอักเสบ (facial nerve paralysis), เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (meningitis), ฝีในสมอง (brain abscess)

อาการ

  1. ปวดหูข้างที่เป็น อาจรู้สึกแน่นๆภายในหู หรือมีเสียงดังในหู
  2. ไข้สูง เด็กเล็กอาจร้องไม่หยุด โดยเฉพาะเวลากลางคืน และกระวนกระวาย อาจดึงใบหูข้างที่ปวด และอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และชักได้
  3. หูอื้อ ระดับการได้ยินลดลง โดยอาการดังกล่าวมักจะมีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบนนำมาก่อน
  4. อาการปวดหู, ไข้ และหูอื้อ จะลดลง หลังจากเยื่อแก้วหูทะลุ และมีหนองไหลออกมาแล้ว


อาการแสดง

  1. เยื่อแก้วหูแดง และบวม มักจะโป่งออกมาจนไม่สามารถเห็นโครงสร้างปกติภายในหูชั้นกลางได้
  2.  อาจมีอาการปวด และกดเจ็บบริเวณกระดูกมาสตอยด์หลังหูผู้ป่วย
  3.  บางราย อาจมีเยื่อแก้วหูทะลุ และมีหนอง, เลือด หรือหนองปนเลือดไหลออกมา
  4. ผู้ป่วยบางราย อาจมีอัมพาตของกล้ามเนื้อใบหน้า เนื่องจากเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 มีการอักเสบ


การรักษา

  1. การรักษาทางยา

1.1) รับประทานยาต้านจุลชีพ (antibiotic) เพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุ ซึ่งควรรับประทานเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 10 – 14 วัน

1.2) รับประทานยาแก้แพ้ (antihistamine), ยาลดบวม, ยาหดหลอดเลือด (oral decongestant) และพ่นจมูกด้วยยาหดหลอดเลือด (topical decongestant) เพื่อทำให้เยื่อบุบริเวณรูเปิดของท่อยูสเตเชียนยุบบวม ทำให้ท่อยูสเตเชียนเปิดได้กว้างขึ้น ทำให้สารจากการอักเสบ หรือหนองที่อยู่ในหูชั้นกลาง สามารถระบายออกจากท่อยูสเตเชียนนี้ได้สะดวกขึ้น

1.3) รับประทานยาแก้ปวด หรือลดไข้เท่าที่จำเป็น

 

  1. การรักษาโดยการผ่าตัด
    2.1) การเจาะเยื่อแก้วหู (myringotomy) เพื่อระบายหนองในหูชั้นกลางออก จะช่วยลดอาการปวดหูลงได้มาก   มักทำในรายที่ให้ยาเต็มที่แล้ว อาการผู้ป่วยไม่ดีขึ้น เช่น ยังคงปวดมาก มีไข้สูง หรือ ต้องการหนองไปย้อมเชื้อ หรือเพาะเชื้อเพื่อหาชนิดของเชื้อก่อโรค ในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือผู้ป่วยหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลันที่มีภาวะแทรกซ้อนเช่นโพรงกระดูกมาสตอยด์อักเสบเฉียบพลัน, ฝีหลังหู, เยื่อหุ้มสมองอักเสบ, ฝีในสมอง, อัมพาตของกล้ามเนื้อใบหน้า เนื่องจากเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 มีการอักเสบ  หลังผ่าตัด เยื่อแก้วหูจะปิดได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์

    2.2) การผ่าตัดโพรงกระดูกมาสตอยด์ (mastoidectomy)  มักทำในกรณีที่มีการอักเสบของโพรงกระดูกมาสตอยด์  มีหนองขังอยู่ภายในโพรงกระดูกมาสตอยด์ และไม่มีทางออก โดยเป็นการผ่าตัดบริเวณหลังหูเข้าสู่โพรงกระดูกมาสตอยด์ และนำหนอง หรือการอักเสบที่อยู่ภายในออก


การป้องกันโรคหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน
ทำได้โดยระวังอย่าให้ติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจชนิดเฉียบพลัน เช่น โรคหวัด, โรคไซนัสอักเสบ  โดยหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยมีภูมิต้านทานต่ำลง เช่น เครียด  นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ โดนหรือสัมผัสอากาศที่เย็นมากๆ เช่น ขณะนอนเปิดแอร์ หรือพัดลมเป่าจ่อ   ไม่ได้ใส่เสื้อผ้า หรือไม่ได้ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายเพียงพอ   การดื่มหรืออาบน้ำเย็น ตากฝน หรือสัมผัสกับอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น จากร้อนเป็นเย็น เย็นเป็นร้อน หรือมีคนรอบข้างที่ไม่สบายคอยแพร่เชื้อให้เราทั้งที่บ้านและที่ทำงาน  และหมั่นออกกำลังกายแบบแอโรบิก (การออกกำลังกายที่ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น หายใจเร็วขึ้นต่อเนื่องกัน เช่น วิ่ง, เดินเร็ว, ขึ้นลงบันได, ว่ายน้ำ, ขี่จักรยานแบบปรับน้ำหนักความฝืดได้, เตะฟุตบอล, เล่นเทนนิส, แบดมินตัน หรือบาสเกตบอล) อย่างน้อยวันละ 30 นาที  อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน หรือถ้าเจ็บป่วยด้วยโรคเหล่านี้ ควรดูแลรักษาเสียแต่เนิ่นๆโดยรีบไปพบแพทย์  อย่าปล่อยให้เป็นเรื้อรัง

 

Last update: 1 กรกฎาคม 2554