เลือดกำเดาไหล

พญ.ธันยธร ธีรนรเศรษฐ์
ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


เลือดกําเดาไหล คือภาวะที่มีเลือดออกทางจมูกข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ อาจเป็นจากส่วนหน้าหรือส่วนหลังของจมูก เกิดจากเส้นเลือดฝอยในโพรงจมูกแตก ทําให้มีเลือดไหล เป็นภาวะฉุกเฉินทางหู คอ จมูกที่พบได้บ่อย โดยมากกว่าร้อยละ 60 ของประชากร จะเคยมีประวัติเลือดกำเดาไหลมาอย่างน้อย 1 ครั้งในชีวิต โดยประมาณร้อยละ 6 ที่ต้องรับการรักษาในโรงพยาบาล โดยอายุที่พบได้บ่อยคือน้อยกว่า 10 ปี และมากกว่า 35 ปี แบ่งเป็นเลือดออกจากจมูกส่วนหน้า และเลือดออกจากจมูกส่วนหลัง เลือดออกทางส่วนหน้าของจมูกมักพบในเด็กและคนอายุน้อย ส่วนเลือดออกจากส่วนหลังของจมูกมักพบในผู้สูงอายุซึ่งมักมีสาเหตุจากความดันโลหิตสูง เลือดกำเดาไหลมักพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง เนื่องจากเชื่อว่าอิทธิพลของฮอร์โมนเอสโตรเจนจะเป็นตัวปกป้องเยื่อบุจมูกจากการอักเสบได้ มักพบอุบัติการณ์ได้บ่อยในช่วงฤดูหนาว และช่วงอากาศแห้ง ปัจจัยส่งเสริมที่ทำให้เกิดเลือดกำเดาไหลอย่างอื่น เช่น การแคะจมูก อุบัติเหตุกระทบกระแทกบริเวณจมูก การสั่งน้ำมูกแรงๆ การอักเสบของช่องจมูก หรือการรับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด เป็นต้น

การปฐมพยาบาลผู้ป่วยเลือดกำเดาไหล

ภาพจาก https://thailandonlinehospital.com/th/disease/view/280

ให้ทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นโดยการนั่งโน้มตัวมาทางด้านหน้า ก้มหน้าและใช้มือบีบจมูกไว้นาน 15-20 นาที โดยอาจใช้การประคบเย็นบริเวณใบหน้าหรือหน้าผากร่วมด้วย ไม่ควรเงยหน้าขึ้นเพราะจะทำให้เลือดไหลลงคอและเกิดการสำลักได้ และไม่ควรบีบๆคลายๆก่อน 20 นาทีเพราะเกล็ดเลือดใช้เวลาประมาณ 20 นาทีจึงจะทำให้เกิดการแข็งตัวของเลือดได้

วิธีการรักษา

  1. แพทย์จะทำการประเมินภาวะฉุกเฉินโดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจ สัญญาณชีพ และให้การรักษาเบื้องต้นก่อนเพื่อให้ผู้ป่วยพ้นขีดอันตราย
  2. แพทย์ทำการรักษาเฉพาะจุด โดยการตรวจบริเวณโพรงจมูก และทำการใส่ยาหดหลอดเลือด หากพบจุดเลือดออกจะทำการจี้ห้ามเลือด หากไม่พบจุดเลือดออกก็จะทำการใส่อุปกรณ์ห้ามเลือดในโพรงจมูก เช่น ผ้าก๊อซหรือบอลลูน เป็นต้น
  3. หากเลือดยังไม่หยุดไหล อาจจะต้องทำการประเมินในห้องผ่าตัด เพื่อหาจุดเลือดออกให้ชัดเจน หรือทำการจี้เส้นเลือดที่มาเลี้ยงในโพรงจมูก แต่ถ้าหากไม่ได้ผลหรือเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่มาเลี้ยงในโพรงจมูก จะมีการฉีดสีและทำการอุดหลอดเลือดโดยรังสีแพทย์
  4. ทำการหาสาเหตุและแก้ไขสาเหตุนั้น เช่น การหยุดยาต้านการแข็งตัวของเลือด การควบคุมความดันให้กลับสู่ปกติ

ภาพจำลองการใส่ผ้าก๊อซเพื่อห้ามเลือดในโพรงจมูก

การปฏิบัติตัวไม่ให้เลือดกำเดาไหล

หลีกเลี่ยงการแคะแกะเกาบริเวณช่องจมูก หลีกเลี่ยงการสั่งน้ำมูกแรงๆ หากมีอาการหรือโรคทางช่องจมูกให้ไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างถูกวิธี รับประทานยาตามแพทย์สั่ง หากช่องจมูกมีอาการแห้งโดยเฉพาะช่วงฤดูหนาวหรือช่วงมีฝุ่นมลพิษ สามารถใช้น้ำเกลือสเปรย์หรือหยอด ร่วมกับป้ายครีมหรือขี้ผึ้งเช่น terramycin ointment บริเวณช่องจมูกได้

Last update: 15 กันยายน 2565