โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ในสถานการณ์โควิด-19

โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ในสถานการณ์โควิด-19

รศ. นพ. ปารยะ อาศนะเสน
สาขาโรคจมูกและโรคภูมิแพ้
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล


ในเวลาไม่กี่เดือนมานี้ได้มีการระบาดของโคโรนาไวรัส (Coronavirus) ชนิดใหม่ที่มีชื่อว่า severe acute respiratory syndrome coronavirus 2 (SARS-CoV-2) ทำให้เกิด "Coronavirus disease 2019" หรือที่เรารู้จักดีในชื่อ "โควิด-19?"(COVID-19) ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีน ในเมืองอู่ฮั่น ในเดือนธันวาคม 2562 ไวรัสชนิดนี้สามารถติดต่อจากคนไปสู่คนได้ง่ายมาก อาการของโรคมีตั้งแต่ ไม่มีอาการ หรือมีอาการเหมือนไข้หวัด เช่น มีไข้ เจ็บคอ ไอ คัดจมูก น้ำมูกไหล อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เมื่อยตัว ซึ่งมีอาการเพียงเล็กน้อย ไปจนถึงมีอาการมาก เช่น ไอมาก เจ็บหน้าอก เหนื่อยหอบ เนื่องจากมีปอดอักเสบโดยเฉพาะในผู้ป่วยสูงอายุ หรือมีโรคประจำตัวร่วมด้วย ต่างจากผู้ป่วยเด็ก ที่ติดเชื้อโควิดซึ่งมีอาการน้อยมาก หรือไม่มีอาการเลย

เนื่องจากมีจำนวนผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้ โรคโควิด-19 นี้ เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับนานาชาติในวันที่ 30 มกราคม 2563 และเป็นการระบาดครั้งใหญ่ วันที่ 11 มีนาคม 2563 ในประเทศไทย นายกรัฐมนตรีได้ประกาศพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในภาวะฉุกเฉิน และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป

โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ หรือโรคแพ้อากาศเป็นโรคที่พบได้บ่อยในประเทศไทย และอุบัติการณ์ของโรค จมูกอักเสบภูมิแพ้ ในประเทศไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ สารก่อภูมิแพ้ในประเทศไทยที่พบบ่อยที่สุดที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการ คือ ไรฝุ่น และผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ มักจะแพ้สารก่อภูมิแพ้หลายชนิด โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ยังมีผลต่อคุณภาพชีวิตคนไทย โดยทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยแย่ลง อาการที่พบได้บ่อยที่สุดของผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ในประเทศไทย คือ อาการคัดจมูก, น้ำมูกไหล, คัน และจาม

ความสัมพันธ์ระหว่างโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ และ โควิด

เนื่องจากเยื่อบุจมูกมีจำนวนตัวที่จับ หรือรับเชื้อโควิด (angiotensin-converting enzyme (ACE) 2 receptor) มากที่สุดในระบบทางเดินหายใจ โควิด จึงทำให้เกิดการติดเชื้อที่เยื่อบุจมูก และทำให้ผู้ป่วยมีอาการทางจมูกได้ ผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัดใหญ่ หรือมีการติดเชื้อไวรัสที่ทางเดินหายใจส่วนบน รวมทั้งผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด จึงอาจจะมีอาการคล้ายกันได้ในระยะแรก ดังนั้น ผู้ป่วยเหล่านี้ อาจติดเชื้อโควิดได้ โดยอาการของโควิด อาจปรากฏชัดในเวลาต่อมา

ปัจจุบันมีการรายงานจำนวนผู้ป่วยที่เป็นโควิด ที่มีการสูญเสียการรับกลิ่น และ/หรือ การรับรสอย่างเฉียบพลันมากขึ้น โดยอาจเป็นอาการนำ ก่อนที่จะมีอาการอื่นๆของโควิด ตามมาถึงร้อยละ 20-60 ของผู้ป่วย และมักพบในผู้ป่วยที่มีอายุน้อยกว่า 40 ปี ผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ โดยเฉพาะผู้ที่มีการสูญเสียการรับกลิ่น และ/หรือ การรับรส จึงอาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิด คิดว่าผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ติดเชื้อโควิดได้ อาจทำให้ผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ โดนรังเกียจจากสังคม นอกจากนั้นการที่เยื่อบุจมูกของผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ มีอาการอักเสบเรื้อรังตลอดเวลา ทำให้มีโอกาสติดเชื้อไวรัสได้ง่ายกว่าคนปกติ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ที่แสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ สามารถติดเชื้อโควิดได้ง่ายกว่าคนปกติที่แข็งแรงดี หรือ ผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ที่ติดเชื้อโควิดจะมีการดำเนินโรคที่รุนแรง เช่นเกิดภาวะแทรกซ้อน มากกว่าผู้ป่วยปกติที่ติดเชื้อโควิด ดังนั้น จมูกอักเสบภูมิแพ้ จึงไม่ได้ถูกจัดว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงของโควิด หรืออีกนัยหนึ่ง โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ไม่ได้เพิ่มความรุนแรงของโควิด ถ้าผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ติดเชื้อโควิด ก็เป็นกลุ่มผู้ป่วยที่สามารถแพร่เชื้อไปสู่คนปกติได้

ข้อแตกต่างระหว่างผู้ป่วยจมูกอักเสบภูมิแพ้ และผู้ป่วยโควิด

ผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ถ้าไม่มีการติดเชื้อร่วมด้วย จะไม่มีไข้ หรืออาการอื่นๆ ของการติดเชื้อ เช่น เจ็บคอ, ไอ, อ่อนเพลีย, เมื่อยเนื้อเมื่อยตัว อย่างไรก็ตามผู้ป่วยโควิด ก็อาจจะไม่มีไข้ได้ นอกจากนั้นถ้าผู้ป่วยโรค จมูกอักเสบภูมิแพ้ ไม่ได้มีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด เช่น ประวัติเดินทางมาจากประเทศ หรือพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคโควิด ในช่วง 14 วันก่อนมีอาการ, มีคนใกล้ชิด หรือคนในครอบครัวที่ร่วมอาศัย เดินทางไปประเทศหรือพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคโควิด หรือมีไข้ร่วมกับอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ น้ำมูก เจ็บคอ หายใจเร็ว หรือเหนื่อยหอบ อาจทำให้นึกถึงการติดเชื้อโควิดน้อยลง ผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ มักจะมีอาการทางจมูกเด่นกว่าผู้ป่วยโควิด ซึ่งมักจะมีอาการทางเดินหายใจส่วนล่างเด่น แต่อาจต้องระวัง เพราะผู้ป่วย จมูกอักเสบภูมิแพ้ อาจมีโรคหืดร่วมด้วย

นอกจากนั้นถ้าผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ได้รับการรักษาโรคอย่างเหมาะสม เช่น ล้างจมูก, ใช้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก, การรับประทานยาต้านฮิสทามีน หรือยาแก้แพ้ หรือการใช้ยาต้านฮิสทามีนชนิดพ่นร่วมกับยาสเตียรอยด์พ่นจมูก อาการทางจมูก รวมถึงความผิดปกติในการรับกลิ่นควรจะดีขึ้น แต่ถ้าผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น โดยเฉพาะมีความผิดปกติในการรับกลิ่น และ/หรือ การรับรสที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน หรือมีปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด อาจสงสัยโควิด ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ควรจะได้รับการรักษาเพื่อคุมอาการให้ดีในช่วงที่มีการระบาดของโควิด เพื่อที่จะให้แพทย์วินิจฉัยแยกโรคได้ง่าย ไม่สับสนในการวินิจฉัย เมื่อผู้ป่วยมีอาการ โดยเฉพาะอาการทางจมูก

การวินิจฉัยแยกโรคระหว่างโควิด, ภูมิแพ้, ไข้หวัดใหญ่และ หวัดธรรมดาโดยใช้อาการ ได้แสดงในตารางที่ 1

การดูแลผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ในช่วงที่มีการระบาดของ โควิด

การหาสารก่อภูมิแพ้ที่ผู้ป่วยแพ้ โดยการทดสอบทางผิวหนัง ควรเลื่อนไปก่อน แต่ถ้าจำเป็น อาจใช้วิธีเจาะเลือดหาสารก่อภูมิแพ้ที่ผู้ป่วยแพ้แทน การรักษาผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ในปัจจุบันมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ควบคุมอาการของผู้ป่วยได้ ไม่มีอาการทางจมูก (คัดจมูก, คัน, จาม, น้ำมูกไหล) ไม่มีอาการทางตา (คัน, เคืองตา, แสบตา, น้ำตาไหล) ไม่รบกวนการนอนหลับ ไม่รบกวนกิจวัตรชีวิตประจำวัน การเรียน การเล่นกีฬา ไม่มีโรคร่วม เช่น ไซนัสอักเสบ ริดสีดวงจมูก หูชั้นกลางอักเสบ ความผิดปกติของการหายใจขณะหลับชนิดอุดกั้น จมูกไม่ได้กลิ่น หรือได้กลิ่นน้อยลง

จากการศึกษาพบว่า ร้อยละ 20-30 ของผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ไม่ตอบสนองต่อการรักษาที่ตนเองได้รับอยู่ และมักมีอาการคัดจมูกเป็นอาการเด่น ถ้าผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ที่มีการติดเชื้อโควิดร่วมด้วย และยังคงมีอาการของโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ อาจยังคงมีอาการจาม ซึ่งจะแพร่กระจายเชื้อโควิดได้มากขึ้นด้วย ดังนั้นผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด ควรได้รับการรักษาไม่ให้มีอาการทางจมูก เพื่อให้แพทย์สามารถวินิจฉัยแยกโรคได้ง่ายขึ้นว่า ผู้ป่วยที่ยังคงมีอาการทางจมูกอยู่ ไม่ได้เกิดจาก โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ที่ยังคุมอาการได้ไม่ดี แต่เกิดจากสาเหตุอื่น เช่น หวัด, ไข้หวัดใหญ่ หรือ โควิด นอกจากนั้น เมื่อผู้ป่วยควบคุมอาการของโรคได้ดี ก็ไม่จำเป็นต้องมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาล ทำให้ผู้ป่วยลดอัตราเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อโควิด และในผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ที่มีการติดเชื้อโควิดร่วมด้วย การที่คุมอาการของโรคได้ดี จะช่วยลดการแพร่กระจายเชื้อโรคผ่านทางการจามด้วย

การรักษาผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ด้วยยาชนิดต่างๆนั้น ไม่ได้ทำให้ผู้ป่วย มีโอกาสติดเชื้อโควิดได้ง่ายขึ้น หรือผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ที่ติดเชื้อโควิด มีความรุนแรงของโรคมากขึ้น ผู้ป่วยจึงควรได้รับการรักษาเหมือนที่เคยได้ ก่อนที่มีการระบาดของโควิด และ ควรประเมินอาการตนเอง และปรับยาเองตามอาการ

ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ ที่แสดงให้เห็นว่า การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือจะป้องกันการติดเชื้อ ไวรัสหรือโควิดได้ ถ้าผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ต้องการล้างจมูกเพื่อบรรเทาอาการทางจมูก และ/หรือไซนัส ก็สามารถล้างได้ แต่ควรทำความสะอาดอุปกรณ์ในการล้างจมูก เช่น ขวดบีบน้ำเกลือ, กระบอกฉีดยา หรือลูกยางแดงให้ดี เพื่อลดการติดเชื้อ สิ่งที่ต้องคำนึงถึง คือ การล้างจมูกให้ผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ที่เป็นโควิด อาจทำให้มีการแพร่กระจายเชื้อไปยังผู้อื่นได้ ถ้าผู้ป่วยอยู่คนเดียวในที่อยู่อาศัย หรือกักตัวอยู่ การล้างจมูกไม่น่าจะก่อให้เกิดปัญหาอะไร ยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ว่า การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือจะทำให้ผู้ป่วย โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ที่เป็น โควิด หายจากการติดเชื้อเร็วขึ้นหรือไม่

ไม่มีข้อห้ามในการใช้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกในผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ถ้าผู้ป่วยเคยใช้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกอยู่แล้ว ก็สามารถใช้ต่อได้ ไม่จำเป็นต้องหยุดใช้ หรือแม้ผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ที่ยังไม่เคยใช้ ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกก็สามารถใช้ได้ แม้ผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ที่ติดเชื้อโควิด ก็สามารถใช้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกได้ เพราะไม่ได้ทำให้การติดเชื้อ หรือภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยแย่ลง และไม่แนะนำให้หยุดใช้ ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก

การรักษาด้วยวัคซีนภูมิแพ้ ด้วยการฉีด หรือการอมใต้ลิ้น ไม่ควรเริ่มในผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ช่วงนี้ ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ แต่ถ้าผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ที่ได้รับการรักษาด้วยวัคซีนภูมิแพ้ อยู่แล้วในช่วงที่ปรับขนาดวัคซีนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ควรจะนัดการมารับวัคซีนห่างออกไปเป็นทุก 2-4 สัปดาห์ได้ ถ้าอยู่ในช่วงที่ให้ขนาดวัคซีนคงที่ (คือได้ขนาดสูงสุดที่ผู้ป่วยรับได้แล้ว) อาจนัดการมารับวัคซีนห่างออกไปเป็นทุก 6-8 สัปดาห์ได้ วัคซีนชนิดอมใต้ลิ้นมีข้อได้เปรียบกว่าวัคซีนชนิดฉีด คือผู้ป่วยไม่ต้องมาโรงพยาบาลบ่อย สามารถรับการรักษาที่บ้านผู้ป่วยได้ ทำให้ลดอัตราการติดเชื้อโควิด จากการเดินทางมาโรงพยาบาลได้ ถ้าอาการของผู้ป่วยค่อนข้างคงที่ และไม่ได้มีอาการมากขึ้น หลังหยุดการรักษาด้วยวัคซีนภูมิแพ้ อาจหยุดการรักษาไปชั่วคราวก่อนก็ได้ ถ้าผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ที่รักษาด้วยวัคซีนภูมิแพ้ติดเชื้อโควิด ควรหยุดการรักษาด้วยวัคซีนภูมิแพ้ไว้ก่อน จนกว่าผู้ป่วยจะหายดี หรือมีภูมิคุ้มกันต่อโควิดแล้ว ค่อยมาพิจารณาเริ่มการรักษาด้วยวัคซีนภูมิแพ้ใหม่

ในช่วงที่มีการระบาดของ โควิด มีคำแนะนำให้ทุกคนอยู่ห่างจากผู้อื่น (social distancing) และถ้าไม่จำเป็น ไม่ควรมาโรงพยาบาล เพื่อป้องกันการติดเชื้อของทั้งผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งการประกาศการบริหารราชการในภาวะฉุกเฉิน ทำให้การดูแลผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ไม่ว่าจะเป็นการติดตาม หรือการรักษา เพื่อดูการตอบสนองต่อยา หรือการปรับยา รวมถึงการฉีดวัคซีนเพื่อรักษาโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ นั้นทำได้ไม่เต็มที่ การมาพบแพทย์เพื่อรับการรักษา ไม่ได้เป็นสิ่งที่รีบด่วน สามารถเลื่อนได้จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น หรือแพทย์อาจให้คำแนะนำและ การรักษาผ่านช่องทางการสื่อสารต่างๆ เช่น โทรศัพท์ หรือการพูดคุยโดยเห็นหน้าทั้ง 2 ฝ่าย (แพทย์และผู้ป่วย) ผ่านทางอินเตอร์เนท (Telemedicine) ยกเว้นผู้ป่วยที่มีปัญหาในการรักษา หรือมีอาการรุนแรงที่อาจต้องมาพบแพทย์ การที่ผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ จะมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาล ควรคำนึงถึงประโยชน์ที่ผู้ป่วยจะได้รับ และอัตราเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด หรือความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นสำคัญ

ผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ รวมทั้งทุกคน ควรดูแลและป้องกันตนเองจากเชื้อโควิด ในช่วงที่มีการระบาดโดย

  • ใส่หน้ากากอนามัย ทุกครั้งที่ออกจากบ้าน
  • ล้างมือด้วยสบู่และน้ำ นานอย่างน้อย 20 วินาที
  • ใช้แอลกอฮอล์เจลที่มีปริมาณของแอลกอฮอล์อย่างน้อยร้อยละ 60 ทามือในที่ที่ไม่มีสบู่และน้ำให้ล้างมือ
  • เวลาไอหรือจาม ใช้กระดาษชำระแล้วทิ้ง ไม่ควรไอหรือจามใส่มือ ถ้าไม่มีกระดาษชำระให้ไอหรือจามใส่แขนบริเวณข้อศอก
  • ให้ทำความสะอาดวัตถุ หรือพื้นผิวที่ต้องจับต้องบ่อยๆ
  • ถ้าป่วยหรือไม่สบาย ควรอยู่บ้าน
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัส เช่น การจับมือทักทาย การจูบ กอด และควรเว้นระยะห่างจากผู้อื่น (Social distancing) อย่างน้อย 2 เมตร
  • ใช้ยาควบคุมอาการของโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ให้ดี

โดยสรุป อาการของโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ และการติดเชื้อโควิด อาจจะคล้ายกันได้ในระยะแรก การสูญเสียการรับกลิ่น และ/หรือ การรับรสอย่างเฉียบพลัน อาจเป็นอาการนำ ก่อนที่จะมีอาการอื่นๆของโควิด ได้ ผู้ป่วยควรรายงานความผิดปกติในการรับกลิ่น และ/หรือ การรับรสของผู้ป่วยให้แก่แพทย์ทราบ เสมอ ผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ อาจถูกคนรอบข้างเข้าใจผิด คิดว่า ติดเชื้อโควิดได้ ทำให้โดนรังเกียจจากสังคม ผู้ป่วยควรรักษาและควบคุมโรคไม่ให้มีอาการทางจมูก ในช่วงที่มีการระบาดของโควิดนี้ เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดดังกล่าว โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ไม่ใช่ปัจจัยเสี่ยงของโควิด และไม่ได้เพิ่มความรุนแรงของโควิด การรักษาโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ด้วยยาชนิดต่างๆนั้น ไม่ได้ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสติดเชื้อโควิดได้ง่ายขึ้น หรือ มีความรุนแรงของโรคมากขึ้น จึงควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อควบคุมอาการของตนให้ดี พร้อมกับดูแลและป้องกันตนเองจากโควิดในช่วงที่มีการระบาด

Last update: 11 พฤษภาคม 2563