เลือกเครื่องอัดอากาศขณะหายใจเข้า [Continuous Positive Airway Pressure (CPAP)] แบบ Auto หรือ Manual ดี

 

เลือกเครื่องอัดอากาศขณะหายใจเข้า [Continuous Positive Airway Pressure (CPAP)] แบบ Auto หรือ Manual ดี

รศ. นพ. ปารยะ อาศนะเสน
สาขาโรคจมูกและโรคภูมิแพ้
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

  

  

               เครื่องอัดอากาศขณะหายใจเข้า (Continuous Positive Airway Pressure: CPAP) เป็นการรักษาที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีการอุดกั้นของทางเดินหายใจส่วนบนขณะหลับทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยที่มีปัญหานอนกรนธรรมดา หรือมีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ ซึ่งมีความรุนแรงตั้งแต่ระดับน้อยถึงรุนแรง การที่จะเลือกใช้ CPAP จะเลือกแบบตั้งค่าความดันเอง (Manual CPAP) หรือใช้แบบปรับความดันอัตโนมัติ (Auto-Titrating CPAP) ดี บทความนี้มีคำตอบครับ

               การจะเลือก CPAP ทั้ง 2 ชนิด คงไม่ต่างอะไรกับการซื้อรถยนต์ ว่าจะเลือกเกียร์กระปุก (Manual gear) หรือเกียร์อัตโนมัติ (Automatic gear) รถที่เราซื้อ สามารนำเราไปถึงจุดหมายได้เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นรถเกียร์กระปุก หรือรถเกียร์อัตโนมัติ CPAP ก็เช่นกัน ไม่ว่าจะเลือกใช้แบบตั้งค่าความดันเอง หรือใช้แบบปรับความดันอัตโนมัติ ก็สามารถทำให้ทางเดินหายใจของผู้ป่วยกว้างขึ้นขณะหลับ ทำให้ปัญหานอนกรน และ/หรือ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับของผู้ป่วยดีขึ้นได้เช่นกัน

               การใช้รถเกียร์อัตโนมัติ ทำให้ผู้ขับรถสะดวก ไม่ต้องกังวลเรื่องการปรับเกียร์ เหมือนรถเกียร์กระปุก เช่นเดียวกันการใช้ CPAP แบบปรับความดันอัตโนมัติ ผู้ป่วยจะสะดวก ไม่ต้องกังวลเรื่องการตั้งหรือปรับค่าความดันที่ใช้ในการรักษาอาการนอนกรน และ/หรือภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ แต่มีข้อเสีย คือ มีราคาแพงกว่าเครื่อง CPAP ชนิด Manual เช่นเดียวกับรถเกียร์อัตโนมัติ ซึ่งมีราคาแพงกว่ารถเกียร์กระปุก

ข้อได้เปรียบ หรือข้อเสียเปรียบของ CPAP แต่ละชนิด มีดังนี้
               - เมื่อเยื่อบุจมูกบวม จากหวัดหรือภูมิแพ้, ผู้ป่วยมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น (ไขมันจะมาพอกรอบทางเดินหายใจส่วนบนเพิ่มมากขึ้น) หรือผู้ป่วยมีอายุมากขึ้น (อวัยวะต่างๆ ในทางเดินหายใจส่วนบน เช่น เพดานอ่อน, ลิ้นไก่, โคนลิ้น, ต่อมทอนซิล จะหย่อนยานลง) จะทำให้ทางเดินหายใจส่วนบนตีบแคบลง เมื่อใช้ Manual CPAP ที่ตั้งค่าความดันไว้แล้ว จะทำให้ลมที่วิ่งผ่านทางเดินหายใจส่วนบนลดลง ทำให้การรักษาต่ำกว่าที่ควรจะเป็น (under treatment) อาจทำให้ผู้ป่วยกลับมามีเสียงกรนดังขึ้น หรือมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ทำให้ตื่นขึ้นมา รู้สึกไม่สดชื่น, เพลีย, ง่วงเวลากลางวันได้อีก แต่ถ้าใช้ Auto CPAP เมื่อทางเดินหายใจส่วนบนตีบแคบลง เครื่องจะอัดลมเข้าไปในทางเดินหายใจส่วนบนเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ ทำให้ผลของการรักษายังดีคงเดิม แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงขนาดของทางเดินหายใจส่วนบน

ข้อได้เปรียบ หรือข้อเสียเปรียบของ CPAP แต่ละชนิด มีดังนี้
               - เมื่อเยื่อบุจมูกบวม จากหวัดหรือภูมิแพ้, ผู้ป่วยมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น (ไขมันจะมาพอกรอบทางเดินหายใจส่วนบนเพิ่มมากขึ้น) หรือผู้ป่วยมีอายุมากขึ้น (อวัยวะต่างๆ ในทางเดินหายใจส่วนบน เช่น เพดานอ่อน, ลิ้นไก่, โคนลิ้น, ต่อมทอนซิล จะหย่อนยานลง) จะทำให้ทางเดินหายใจส่วนบนตีบแคบลง เมื่อใช้ Manual CPAP ที่ตั้งค่าความดันไว้แล้ว จะทำให้ลมที่วิ่งผ่านทางเดินหายใจส่วนบนลดลง ทำให้การรักษาต่ำกว่าที่ควรจะเป็น (under treatment) อาจทำให้ผู้ป่วยกลับมามีเสียงกรนดังขึ้น หรือมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ทำให้ตื่นขึ้นมา รู้สึกไม่สดชื่น, เพลีย, ง่วงเวลากลางวันได้อีก แต่ถ้าใช้ Auto CPAP เมื่อทางเดินหายใจส่วนบนตีบแคบลง เครื่องจะอัดลมเข้าไปในทางเดินหายใจส่วนบนเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ ทำให้ผลของการรักษายังดีคงเดิม แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงขนาดของทางเดินหายใจส่วนบน
               - เมื่อผู้ป่วยที่เป็นโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ มีอากาศทางจมูกลดลง หรือผู้ป่วยที่มีน้ำหนักเกิน สามารถลดน้ำหนักลงได้ ทางเดินหายใจส่วนบนจะกว้างขึ้น เมื่อใช้ Manual CPAP ที่ตั้งค่าความดันไว้แล้ว จะทำให้ลมที่วิ่งผ่านทางเดินหายใจส่วนบนมากกว่าที่ควรจะเป็น (over treatment) แต่ถ้าใช้ Auto CPAP เมื่อทางเดินหายใจส่วนบนกว้างขึ้น เครื่องจะอัดลมเข้าไปในทางเดินหายใจลดลงโดยอัตโนมัติ ทำให้ลมที่วิ่งผ่านจมูกหรือปากของผู้ป่วยลดลง ทำให้ผู้ป่วยร่วมมือในการใช้เครื่อง CPAP มากขึ้น
               ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ทางเดินหายใจส่วนบน แคบลง หรือกว้างขึ้น ผู้ที่ใช้ Auto CPAP นั้น เครื่องจะปรับแรงดันลมให้โดยอัตโนมัติ ไม่จำเป็นต้องมาตั้งค่าความดันใหม่อยู่เรื่อยๆ แต่ผู้ที่ใช้ Manual CPAP นั้น ในกรณีที่ทางเดินหายใจส่วนบนแคบลง อาจทำให้ผู้ป่วยกลับมามีเสียงกรนดังขึ้น หรือมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ทำให้ตื่นขึ้นมา รู้สึกไม่สดชื่น, เพลีย, ง่วงเวลากลางวันได้อีก จำเป็นต้องมาปรับค่าความดันที่เหมาะสมขณะเวลานั้นๆ อีก ซึ่งสามารถทำได้โดย
               1. มาตรวจการนอนหลับ (sleep test) ที่โรงพยาบาลอีกครั้ง (นอนที่โรงพยาบาล 1 คืน) เพื่อหาความดันที่เหมาะสมสำหรับทางเดินหายใจส่วนบนที่ตีบแคบขณะนั้นๆ ใหม่ (CPAP titration)
               2. ยืมเครื่อง auto CPAP จากบริษัทที่ขาย มาใช้สัก 1-2 สัปดาห์ เพื่อหาความดันที่เหมาะสม (โดยใช้ค่าความดันที่ 90 หรือ 95 เปอร์เซ็นต์ไทล์: 90th or 95th percentile pressure) สำหรับทางเดินหายใจส่วนบนที่ตีบแคบขณะนั้นๆ แล้วนำค่าความดันนั้น มาตั้งค่าความดันใหม่ สำหรับเครื่อง Manual CPAP
                แต่กรณีที่ทางเดินหายใจส่วนบนกว้างขึ้น ผู้ป่วยที่ใช้ Manual CPAP อาจไม่จำเป็นต้องปรับค่าความดันที่เครื่อง เพราะปัญหานอนกรน และ/หรือ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจะไม่เกิด แต่ผู้ป่วยอาจต้องทนกับความดันลมที่เป่าเข้าสู่ทางเดินหายใจส่วนบน ที่มากกว่าที่ควรจะเป็น (over treatment)
                นอกจากนั้น ขณะที่ผู้ป่วยนอนตะแคง ทางเดินหายใจส่วนบนจะกว้างกว่า เวลาผู้ป่วยนอนหงาย ถ้าผู้ป่วยใช้ Auto CPAP เครื่องจะลดความดันที่เป่าเข้าสู่ทางเดินหายใจส่วนบนลง ทำให้ผู้ป่วยร่วมมือในการใช้เครื่อง CPAP มากขึ้น แต่ขณะที่ผู้ป่วยนอนหงาย เพดานอ่อนที่ยาว และโคนลิ้นที่โต จะตกลงมาตามแรงโน้มถ่วงของโลก ทำให้ทางเดินหายใจส่วนบนตีบแคบมากกว่าเวลานอนตะแคง เครื่อง Auto CPAP จะเพิ่มความดันที่เป่าเข้าสู่ทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้เป็นการรักษาที่เหมาะสมมากกว่าในทางสรีรวิทยา (more physiologically) แต่ถ้าผู้ป่วยใช้ Manual CPAP ไม่ว่าผู้ป่วยจะนอนตะแคง หรือนอนหงาย เครื่องจะเป่าลมเข้าสู่ทางเดินหายใจส่วนบนด้วยความดันคงที่ หรือเท่าเดิม ทำให้ลมที่วิ่งผ่านทางเดินหายใจส่วนบนขณะผู้ป่วยนอนตะแคง มากกว่าที่ควรจะเป็น (over treatment)
                เมื่อท่านทราบข้อดี และข้อเสียของเครื่อง CPAP ทั้ง 2 ชนิดแล้ว คงไม่ยากเกินไปใช่ไหมครับ ในการตัดสินใจเลือก ก็คงคล้ายๆ กับการที่ท่านเลือกซื้อรถยนต์เกียร์กระปุก หรือเกียร์อัตโนมัตินั่นเอง

Last update: 10 กรกฎาคม 2557