สภาวะสำลักส่งแปลกปลอมในทางเดินหายใจ

ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

(ปัญหา สำลัก)  สิ่งแปลกปลอมในทางเดินหายเป็นปัญหาที่มีความสำคัญและอาจมีอันตรายถึงแก่ ชีวิตได้  มักพบในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า  3  ปี  ซึ่งเป็นวัยที่มี ความอยากรู้อยากเห็น สนใจชอบค้นคว้า ทดลองด้วยตนเอง จึงมักเอาสิ่งแปลกปลอมใส่ไปในช่องต่างๆของร่างกาย โดยเฉพาะ ช่องทางเดินหายใจอันได้แก่  รูจมูก และปาก  ประกอบกับฟันกรามที่ยังขึ้นไม่ครบสมบูรณ์ ทำให้ไม่สามารถบดเคี้ยว อาหารชิ้นโต ให้ละเอียด เพียงพอ  จึงอาจเกิดการสำลักในระหว่างรับประทานอาหาร และวิ่งเล่นไปด้วย 

ในผู้ใหญ่สามารถเกิดปัญหาสำลักได้เช่นเดียวกัน เมื่อผู้ป่วยพยายามจะทำกิจกรรมหลายๆอย่างในขณะกินอาหาร เช่น พูด, หัวเราะ  เป็นต้น  บางครั้งฟันปลอมที่ยึดติดไม่แน่นพอ อาจเลื่อนหลุดลงสู่ทางเดินหายใจหรือทางเดินอาหาร โดยไม่ได้ตั้งใจเช่นเดียวกับปัญหาที่เกิดตามหลังการ สำลัก

  1. ทำ ให้เกิดการอุดกั้นของทางเดินหายใจส่วนต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็ก ซึ่งทางเดินหายใจมีขนาดเล็กอยู่แล้ว        การอุดกั้นแม้เพียงเล็กน้อย อาจทำให้เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
  2. เกิดการอุดกั้นของหลอดลมส่วนปลาย ทำให้เกิดภาวะปอดแฟบ   ปอดพอง  หรือหอบหืดได้
  3. เกิดการอุดกั้นการระบายของเสมหะในทางเดินหายใจ ทำให้เกิดปัญหาการอักเสบติดเชื้อตามมาเช่น   ปอดอักเสบ ,  หลอดลมอักเสบ  เป็นต้น
  4. สิ่ง แปลกปลอมบางชนิดเช่น  ถ่านนาฬิกา, ถ่านเครื่องคิดเลข  เมื่อตกค้างในทางเดินหายใจจะทำปฏิกิริยากับเสมหะหรือสิ่งคัดหลั่งต่างๆ  เกิดเป็นสารเคมีที่มีฤทธิ์เป็นด่างเข้มข้น รั่วซึมออกจากตัวถ่าน  ทำให้เกิดการทำลายของเนื้อเยื่อข้างเคียงอย่างรุนแรง จนบางครั้งเกิดการทะลุของอวัยวะภายในเข้าสู่ช่องอกเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต ได้

ภาวะฉุกเฉินกรณีทางเดินหายใจอุดกั้น

เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมในทางเดินหายใจผู้ป่วยจะมีอาการ  สำลัก  ไออย่างรุนแรง  และมีอาหารหายใจลำบากได้  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาด  รูปร่างและตำแหน่งของสิ่งแปลกปลอม  สิ่งแปลกปลอมขนาดใหญ่มักติดค้าง และเกิดการอุดตันในระดับของกล่องเสียงหรือหลอดลมส่วนต้น  ทำให้เกิดการอุดกั้นของทางเดินหายใจอย่างสมบูรณ์และเฉียบพลัน  ผู้ป่วยมักมีประวัติสำลักในขณะรับประทานอาหาร  กุมฝ่ามือไว้ที่ลำคอ  พูดไม่มีเสียง  กระสับกระส่าย  หายใจไม่เข้า  ริมฝีปากเขียวคล้ำ  ภาวะนี้ถือเป็นภาวะฉุกเฉินเนื่องจากผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ภายในไม่กี่นาที  แนะนำให้ใช้วิธีของ  Heimlich  ช่วยเหลือผู้ป่วยโดยในผู้ใหญ่ หรือเด็กโต ให้ทำในท่านั่งหรือยืนโน้มตัว  ไปทางด้านหน้าเล็กน้อย ผู้ช่วยเหลือเข้าทางด้านหลัง  ใช้แขนสอดสองข้างโอบผู้ป่วยไว้  มือซ้ายประคองมือขวาที่กำมือวางไว้ที่ใต้ลิ้นปี่  ดันกำมือขวาเข้าใต้ลิ้นอย่างรวดเร็วเพื่อให้เกิดแรงดันในช่องท้อง ดันเข้าใต้กระบังลมผ่านไปยังช่องทรวงอก เพื่อดันให้สิ่งแปลกปลอมหลุดออกจากกล่องเสียง  ในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า  1 ปีอาจใช้วิธีตบหลังหรือใช้ฝ่ามือวางลงบนทรวงอก แล้วใช้นิ้วหัวแม่มือทั้งสองข้างกดลงบริเวณใต้ลิ้นปี่

ข้อพึงระวัง

  1. ไม่แนะนำให้ใช้นิ้วมือกวาดไปในลำคอเด็ก เนื่องจากอาจทำให้สิ่งแปลกปลอมเคลื่อนตัวไปสู่ตำแหน่งที่มีการอุดกั้นมากขึ้น
  2. วิธี ของ  Heimlich  ดังกล่าวควรใช้ในกรณีฉุกเฉินที่ผู้ป่วยมีการอุดกั้นของทางเดินหายใจอย่าง สมบูรณ์เท่านั้นและผู้ช่วยเหลือควรมีความชำนาญพอสมควร ในกลุ่มผู้ป่วยที่ยังพอมีสติ หายใจเองได้         ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลมากกว่า    เนื่องจากการตัดสินใจใช้วิธีดังกล่าวในผู้ป่วยที่มีการอุดกั้นทางเดินหายใจ อย่างสมบูรณ์ อาจทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปกว่าเดิม  ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของแพทย์พิจารณาให้การรักษา และนำสิ่งแปลกปลอมออกจากทางเดินหายใจด้วยวิธีที่เหมาะสม  ปลอดภัย ได้แก่การดมยาสลบและใช้กล้องส่องตรวจทางเดินหายใจ
  3. สิ่ง แปลกปลอมขนาดเล็ก อาจมีอาการไม่ชัดเจนและเกิดผลแทรกซ้อนเช่นปอดอักเสบ  หอบหืด หลังการสำลักนานเป็นวันถึงสัปดาห์ได้  พี่เลี้ยงเด็กหรือตัวเด็กเองอาจกลัวถูกตำหนิหรือทำโทษจึงปกปิดประวัติการ สำลักสิ่งแปลกปลอมไว้

คำแนะนำเพื่อป้องกันการสำลักสิ่งแปลกปลอม

  1. เลือก ชนิดและขนาดของอาหารที่เหมาะสมให้แก่เด็กในวัยต่างๆ เพื่อป้องกันการสำลักอาหารและไม่ควรป้อนอาหารเด็กในขณะที่เด็กกำลังวิ่งเล่น อยู่
  2. เลือกชนิด  รูปร่างและขนาดของของเล่นให้เหมาะสมกับวัยของเด็ก  รวมทั้งจัดเก็บสิ่งของที่อาจเป็นอันตราย ให้ปลอดภัยจากการหยิบฉวยของเด็ก
  3. สำหรับ ในผู้ใหญ่ที่มีปัญหาเรื่องฟัน  จะต้องปรึกษาทันตแพทย์เพื่อจัดหาฟันปลอมที่เหมาะสม เลือกรับประทานอาหารที่ไม่ต้องบดเคี้ยวรุนแรงมาก  ขนาดชิ้นอาหารที่พอเหมาะ  และควรถอดฟันปลอมออกก่อนเข้านอน

คำแนะนำในกรณีที่เกิดการสำลักสิ่งแปลกปลอม

  1. รับนำส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์ทันที
  2. งดน้ำ งดอาหารผู้ป่วยทันทีที่เกิดการสำลัก
  3. กรณี เป็นเด็ก  ให้สอบถามผู้อยู่ในเหตุการณ์ว่า เด็กเกิดการสำลักในขณะทำอะไรอยู่  เช่นกินอาหาร  ขนม  เล่นของเล่น เป็นต้น  พร้อมทั้งนำตัวอย่างของอาหาร  ขนม สิ่งแปลกปลอมที่สงสัยมาด้วยเพื่อเป็นประโยชน์ในการวางแผนการรักษาของแพทย์

Last update: 16 เมษายน 2552