การฉายแสงเข้าไปในโพรงจมูกเพื่อรักษาโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ (Intranasal Phototherapy or Rhinophototherapy for the Treatment of Allergic Rhinitis)

 

การฉายแสงเข้าไปในโพรงจมูกเพื่อรักษาโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้
(Intranasal Phototherapy or Rhinophototherapy for the Treatment of Allergic Rhinitis)

รศ. นพ. ปารยะ อาศนะเสน
สาขาวิชาโรคจมูกและโรคภูมิแพ้
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

     

   

การใช้แสงในการรักษา (phototherapy) เป็นการนำแสงเข้าไปยังบริเวณที่มีพยาธิสภาพ เพื่อกระตุ้นให้มีเนื้อเยื่อเพิ่มจำนวนขึ้น, ลดการอักเสบ และลดอาการเจ็บปวด มีการพัฒนาเครื่องมือฉายแสงหลายชนิด เพื่อให้การรักษาทางการแพทย์ โดยใช้ความยาว คลื่น หรือขนาดของแสงต่างๆกัน

 

คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าประกอบด้วย คลื่นความถี่วิทยุ, ไมโครเวฟ, อินฟราเรด (infrared), แสงที่เราสามารถมองเห็นได้ (visible light), อุลตร้าไวโอเลต (ultraviolet: UV), เอ็กซเรย์ (X-ray), รังสีแกมมา เมื่อแสงตกกระทบโมเลกุล จากการดูดซึมจะกระตุ้นให้อะตอมมีการตื่นตัวทางไฟฟ้า เกิดปฏิกิริยาทางเคมี เนื่องจากแสง (photochemical effect) สำหรับ อุลตร้าไวโอเลต และ แสงที่สามารถมองเห็นได้ และเกิด ปฏิกิริยาความร้อน และไม่ร้อน (thermal and non-thermal effect) สำหรับ ฟาร์ อินฟราเรด (far infrared ray) แสงที่ใช้ในการรักษาได้แก่

- อุลตร้าไวโอเลต (มีความยาวคลื่นตั้งแต่ 100 – 400 นาโนเมตร)

- แสงที่สามารถมองเห็นได้ (มีความยาวคลื่นตั้งแต่ 400 – 800 นาโนเมตร)

- อินฟราเรด (มีความยาวคลื่นตั้งแต่ 800 – 105 นาโนเมตร)

การใช้แสงในการรักษา เป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ในโรคที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบและภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะโรคทางผิวหนัง ที่เกิดจากความผิดปกติของภูมิคุ้มกัน เช่น สะเก็ดเงิน หรือเรื้อนกวาง(psoriasis), ผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ (atopic dermatitis) ซึ่งได้ผลในการรักษาเป็นอย่างดี จากหลักฐานทางการแพทย์พบว่า การอักเสบเรื้อรังที่เกิดขึ้นที่ผิวหนัง และจมูกนั้น เหมือนหรือคล้ายกัน การใช้แสงจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ ในการรักษาโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ โดยมีการใช้อุลตร้าไวโอเลต และ แสงที่สามารถมองเห็นได้, แสงสีแดงที่สามารถมองเห็นได้ (visible red light), ฟาร์ อินฟราเรด ในการบรรเทาอาการของผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้

กลไกที่เชื่อว่า การฉายแสง สามารถบรรเทาการอักเสบในจมูกและผิวหนัง และทำให้เกิดการกดภูมิคุ้มกัน หรือลดความไวของเยื่อจมูก ได้แก่

1) ลดการนำเสนอของสารก่อภูมิแพ้ โดยเซลล์ในเยื่อบุจมูก

2) ยับยั้งการสร้าง และการหลั่งสารที่เกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาการอักเสบจากภูมิแพ้ เช่น ฮีสตามีน(histamine)

3) กระตุ้นให้เกิดการตายของเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกัน [เช่น ทีเซลล์ (T cell), อีโอซิโนฟิล (eosinophils)]

 

ข้อบ่งชี้ของการรักษาโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ โดยวิธีฉายแสง นี้ ได้แก่

1. ผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ที่ไม่พอใจกับผลการรักษา ด้วยวิธีหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ และการใช้ยารับประทาน หรือยาสเตียรอยด์พ่นจมูก

2. ผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ที่หาทางเลือกอื่นในการรักษา นอกเหนือจาก วิธีหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้, การใช้ยารับประทาน หรือยาสเตียรอยด์พ่นจมูก, การฉีดวัคซีนรักษาโรคภูมิแพ้, การผ่าตัด โดยไม่มีผลข้างเคียง

แสงที่มีการนำมาใช้ในการรักษาโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ได้แก่

1. แสงสีแดง ที่สามารถมองเห็นได้ ที่มีความยาวคลื่น 660 นาโนเมตร โดยนำมาฉายในโพรงจมูก ครั้งละ 4.5 นาที วันละ 3 ครั้ง เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์

2. แสงอินฟราเรด ที่มีความยาวคลื่น 652 และ 940 นาโนเมตร โดยนำมาฉายในโพรงจมูก ครั้งละ 3 นาที วันละ 3 ครั้ง เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์

3. แสงที่ประกอบด้วย แสงที่มองเห็นได้ ร้อยละ 70, อุลตร้าไวโอเลตชนิด A ร้อยละ 25 และ อุลตร้าไวโอเลตชนิด B ร้อยละ 5 ฉายในโพรงจมูก ครั้งละ 2-3 นาที ต่อข้าง ประมาณ 4-8 ครั้ง ภายในระยะเวลา 2 สัปดาห์

หลักฐานทางการแพทย์ที่แสดงให้เห็นว่า การฉายแสงเข้าไปในโพรงจมูก สามารถบรรเทาอาการของโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ได้

การศึกษาโดยใช้แสงอุลตร้าไวโอเลตชนิด B ร่วมกับ ซีนอนคลอไรด์ (XeCl) และแสงผสมระหว่าง อุลตร้าไวโอเลตชนิด A (ร้อยละ 25) อุลตร้าไวโอเลตชนิด B (ร้อยละ 5) และ แสงที่มองเห็นได้ (ร้อยละ 70) ในการยับยั้งการเกิดรอยนูน (wheal) ที่ผิวหนังที่เกิดจากการกระตุ้นด้วยสารก่อภูมิแพ้ พบว่าการฉายแสงดังกล่าว สามารถยับยั้งรอยนูนดังกล่าวได้ โดยถ้าใช้ปริมาณแสงมาก ฤทธิ์ในการยับยั้งก็จะเพิ่มมากขึ้น

หลังจากนั้น มีการพัฒนาเครื่องมือเพื่อรักษาการอักเสบในเยื่อบุจมูกขึ้น เช่น การศึกษาโดย Cosma และคณะในปี ค.ศ. 2004 พบว่าการใช้ อุลตร้าไวโอเลตชนิด B ร่วมกับ ซีนอนคลอไรด์ ที่มีความยาวคลื่น 308 นาโนเมตร สามารถยับยั้งอาการทางจมูกของผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ที่มีอาการรุนแรงได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ Koreck และคณะ ในปี ค.ศ. 2005 พบว่าการใช้อุลตร้าไวโอเลต และ แสงที่มองเห็นได้ ทำให้อาการจาม, น้ำมูกไหล, คัน และอาการของจมูกโดยรวมดีขึ้น รวมทั้งมีจำนวนของเซลล์ และสารที่เกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาการอักเสบจากภูมิแพ้ในเยื่อบุจมูกลดลงด้วย อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มซึ่งไม่ได้รับการฉายแสง Cingi และคณะในปี ค.ศ.2009 พบว่า การฉายแสง นั้นทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ดีขึ้นด้วย

Cingi และคณะในปี ค.ศ. 2010 พบว่าการใช้อุลตร้าไวโอเลต และ แสงที่มองเห็นได้ในการรักษาผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ สามารถลดอาการทางจมูก ได้ดีกว่ากลุ่มซึ่งไม่ได้รับการฉายแสง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ Koreck และคณะในปี ค.ศ. 2007 ได้นำเซลล์เยื่อบุจมูกมาตรวจ หลังการใช้อุลตร้าไวโอเลต รักษาผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ครั้งสุดท้าย พบว่า ดีเอ็นเอ (DNA) ของเซลล์เยื่อบุจมูกถูกทำลาย แต่หลังจากติดตามดูเซลล์เยื่อบุจมูกของผู้ป่วย 2 เดือน หลังการรักษา พบว่าดีเอ็นเอของเซลล์เยื่อบุจมูกที่ถูกทำลายนั้น กลับมาเป็นปกติ

Neumann และ Finkelstein ในปี ค.ศ. 1997 ได้ทำการศึกษาประสิทธิภาพของการใช้แสงที่มีความยาวคลื่น 660 nm (แสงสีแดง ที่สามารถมองเห็นได้) ในการรักษาโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ พบว่า กลุ่มที่ได้รับการรักษาด้วยแสงในโพรงจมูก มีอาการของโรคดีขึ้นร้อยละ 72 เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มซึ่งไม่ได้รับการฉายแสง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ Hu และ Li ในปี ค.ศ. 2007 ได้ทำการศึกษาประสิทธิภาพของการใช้ ฟาร์ อินฟราเรดในการรักษาผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ พบว่าสามารถทำให้อาการคันตา, คันจมูก, คัดจมูก, น้ำมูกไหล และจาม ลดลงได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติหลังรักษา และไม่มีผลข้างเคียงที่ร้ายแรงจากการรักษา Emberlin และLewis ในปี ค.ศ. 2009 ได้ทำการศึกษาประสิทธิภาพของการใช้แสงอินฟราเรดในการรักษาโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ พบว่า กลุ่มที่ได้รับการรักษาด้วยแสงในโพรงจมูก มีอาการจาม, น้ำมูกไหล, น้ำตาไหล และคันปาก และเพดาน ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มซึ่งไม่ได้รับการฉายแสง

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า มีการศึกษาที่มีการเปรียบเทียบ ระหว่างการใช้แสง ดังกล่าวทั้ง 3 ชนิด รักษาโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ โดยมีกลุ่มซึ่งไม่ได้ใช้แสงในการรักษา ทั้งหมด 4 การศึกษาด้วยกัน โดยทั้ง 4 การศึกษาพบว่า การฉายแสงเข้าไปในโพรงจมูก สามารถทำให้อาการคัน, จาม, คัดจมูก, น้ำมูกไหล, คันตา, คันคอ ของผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้น้อยลง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มซึ่งไม่ได้รับการฉายแสง ซึ่งอาการทางจมูก ตาและคอดังกล่าวยังคงเดิม ไม่มีการลดลง

การรักษาโดยการฉายแสง ไม่ได้ทำให้เกิดความร้อน หรืออาการปวดในโพรงจมูก ผู้ป่วยจึงไม่จำเป็นต้องใช้ยาชาเฉพาะที่ก่อนเริ่มรักษา ก่อนฉายแสง ผู้ป่วยต้องสั่งน้ำมูกก่อน และถ้าเยื่อบุจมูกบวมมาก แพทย์อาจใช้ยาหดหลอดเลือดพ่นจมูก เพื่อให้โพรงจมูกยุบบวมก่อน หลังจากนั้น แพทย์จะนำเครื่องมือที่คล้ายปืนยิงแสง ใส่เข้าไปในโพรงจมูก แล้วกดปุ่ม เพื่อให้มีแสงออกมา แล้วหมุนไปรอบๆในโพรงจมูก ซึ่งระยะเวลาที่ฉายแสง แต่ละครั้ง หรือความถี่ของการฉายแสง ขึ้นอยู่กับชนิดของแสงที่ใช้รักษา การรักษานี้ได้ผลกับผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ที่แพ้สารก่อภูมิแพ้ทุกชนิด ผู้ป่วยบางราย อาจรู้สึกดีขึ้นหลังฉายแสงได้เพียง 1 ครั้ง หรืออาจรู้สึกมีอาการมากขึ้นได้ หลังฉายแสงเข้าไปในโพรงจมูกครั้งแรก แต่อาการที่มากขึ้นดังกล่าวจะเป็นอยู่ชั่วคราว ผู้ป่วยบางราย หลังฉายแสงเข้าไปในโพรงจมูก 1-2 ครั้ง แล้วอาการอาจยังไม่ดีขึ้นเลยก็ได้ แต่อาการจะดีขึ้นเรื่อยๆ หลังการฉายแสงในครั้งต่อๆไป ภายใน 2 สัปดาห์ การรักษาส่วนใหญ่ต้องทำ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ สำหรับ ผู้ป่วยที่มีอาการมาก อาจต้องทำถึง 8 ครั้ง ในช่วงระยะเวลา 6 สัปดาห์ เมื่อฉายแสงครบระยะเวลาดังกล่าวแล้ว ผลของการรักษาจะอยู่ได้นานเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตัวของผู้ป่วย เพราะการฉายแสงดังกล่าว ก็เป็นการรักษาที่ปลายเหตุ ผลของการบรรเทาการอักเสบในจมูกนั้น จะอยู่ได้ชั่วคราว เมื่อผลของการฉายแสงหมดไป ผู้ป่วยก็จะกลับมามีอาการได้อีก แต่สามารถทำการฉายแสงซ้ำได้อีก คล้ายกับที่เรารับประทานยาแก้แพ้ (ยาต้านฮีสตามีน) หรือใช้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกนั่นเอง

การฉายแสงเข้าไปในโพรงจมูกนั้น สามารถทำได้อย่างปลอดภัย ในผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร, นักกีฬา ผู้ป่วยสามารถใช้ยารักษาโรคภูมิแพ้ชนิดต่างๆได้ ระหว่างการฉายแสง การรักษาวิธีนี้ ไม่มีรายงานของการเกิดผลข้างเคียงที่ร้ายแรง เป็นการรักษาที่ค่อนข้างปลอดภัย และผู้ป่วยทนต่อการรักษาได้ดี ผลข้างเคียงที่อาจพบได้เล็กน้อย คือ โพรงจมูกแห้ง ซึ่งสามารถบรรเทาได้ โดยการใช้น้ำเกลือพ่นในโพรงจมูก หรือใช้ขี้ผึ้ง หรือสารหล่อลื่นป้ายในโพรงจมูกระหว่างการรักษา อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการศึกษาผลข้างเคียงของการฉายแสงในโพรงจมูกในระยะยาว

ถึงแม้ว่าจะมีการพัฒนายาใหม่ๆ มาใช้ในการรักษาโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ แต่จะมีผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้บางกลุ่มที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษา ด้วยการหลีกเลี่ยงสิ่งที่ผู้ป่วยแพ้ หรือการใช้ยา หรือมีผู้ป่วยบางกลุ่ม ที่ไม่อยากใช้ยาในการรักษา เนื่องจากกลัวผลข้างเคียง โดยเฉพาะผู้ป่วยกลุ่มพิเศษที่กังวลผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้กับบุตรหลาน เช่น ผู้ที่ตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร การฉายแสงเข้าไปในโพรงจมูก เพื่อรักษาโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ จึงเป็นทางเลือกใหม่ในการรักษาโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ที่ได้ผลดี และปลอดภัย จากหลักฐานที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่า การฉายแสงดังกล่าวสามารถทำให้อาการคันตา, คันจมูก, คัดจมูก, น้ำมูกไหล และจามของผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ดีขึ้นได้

Last update: 8 เมษายน 2558