ผู้ป่วยที่สูญเสียการรับกลิ่น (ไม่ได้กลิ่น หรือ Anosmia) หรือได้กลิ่นน้อยลง (Hyposmia) ควรปฏิบัติตัวอย่างไร

ผู้ป่วยที่สูญเสียการรับกลิ่น (ไม่ได้กลิ่น หรือ Anosmia) หรือได้กลิ่นน้อยลง (Hyposmia) ควรปฏิบัติตัวอย่างไร

รศ.นพ. ปารยะ อาศนะเสน
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล


1.เมื่อจมูกไม่ได้กลิ่น ( anosmia) หรือได้กลิ่นน้อยลง (hyposmia) จะขาดสัญญาณเตือนภัยอันตราย (warning signals) เช่น ควันไฟ, แก๊สรั่ว, อาหารบูดและเน่าเสีย ผู้ป่วยอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ถ้าที่พักอาศัย เกิดไฟไหม้ หรือแก๊สรั่ว หรือผู้ป่วยอาจเกิดอาการของอาหารเป็นพิษ (food poisoning) เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสียได้ เมื่อกินอาหารที่บูดและเน่าเสียเข้าไป นอกจากนั้นยังทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยในการได้กลิ่นหอม หรือกลิ่นอาหาร ซึ่งทำให้เกิดความเพลิดเพลิน เจริญใจ หรือการเจริญอาหารเสียไป หรือบางคนอาจวิตกกังวลว่า มีโรคร้ายแรงในสมอง หรือโพรงจมูกซ่อนอยู่ ดังนั้นควรมีญาติพักอาศัยอยู่กับผู้ป่วยด้วย เพื่อจะได้สังเกตว่า มีภัยอันตรายเกิดขึ้นหรือไม่ (ควันไฟ, แก๊สรั่ว หรืออาหารที่เก็บไว้บูด เน่าเสียหรือไม่) แต่ ถ้าผู้ป่วยต้องอยู่คนเดียว ควรปฏิบัติดังนี้

ติดตั้งเครื่องตรวจจับควัน (smoke detector) ที่เพดานห้อง (ทุกห้อง ถ้าเป็นไปได้ อย่างน้อย ควรติดห้องที่ผู้ป่วยนอน) และควรจดวัน และเวลาในการเปลี่ยนแบตเตอรี่ของเครื่องตรวจจับควันดังกล่าวไว้ด้วย จะได้ทราบวันที่จะต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่ก้อนใหม่


ถ้าติดตั้งเครื่องฉีดน้ำที่เพดาน (fire sprinkler) ที่เพดานห้อง ได้ด้วย จะยิ่งดี ในกรณีไฟไหม้ เครื่องมือจะได้ฉีดน้ำดับไฟอัตโนมัติ (ถ้าติดได้ทุกห้อง ยิ่งดี อย่างน้อย ควรติดห้องที่ผู้ป่วยนอน )

เวลาเก็บอาหารเข้าตู้เย็น ควรมีฉลาก หรือกระดาษติดภาชนะที่เก็บอาหารไว้ด้วย และเขียนวันและเวลาที่นำอาหารเก็บเข้าตู้เย็น จะได้ทราบว่าเก็บไว้นานเพียงใด และสมควรจะกินหรือไม่ ถ้าไม่แน่ใจ ไม่ควรกิน เพราะอาจเกิดอาการของอาหารเป็น


2.สาเหตุของจมูกไม่ได้กลิ่น หรือได้กลิ่นน้อยลง ส่วนใหญ่เกิดจาก อุบัติเหตุที่ศีรษะ, การติดเชื้อไวรัสจากการเป็นหวัด และโรคของโพรงจมูกและไซนัส (เช่นจมูกอักเสบชนิดภูมิแพ้ และไม่แพ้, ไซนัสอักเสบ, ริดสีดวงจมูก และเนื้องอก) ในกรณีที่สาเหตุของการสูญเสียการรับกลิ่น เกิดจากเชื้อไวรัส หรืออุบัติเหตุที่ศีรษะ หรือสาเหตุใดๆก็ตาม การฝึกดมกลิ่นที่ผู้ป่วยคุ้นเคยบ่อยๆ (olfactory training) (แม้ผู้ป่วยจะไม่ได้กลิ่น หรือไม่ได้กลิ่นเพิ่มขึ้นก็ตาม) อาจช่วยให้เส้นประสาทการรับกลิ่นที่เสียไป กลับมาทำงานได้ [มีการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยที่มีการสูญเสียการรับกลิ่นจากสาเหตุดังกล่าว ถ้าพยาธิสภาพของโรครุนแรงไม่มาก ผู้ป่วยที่ฝึกดมกลิ่นที่ผู้ป่วยคุ้นเคยบ่อยๆ จะมีโอกาสที่จะกลับมาได้กลิ่น (กรณีพยาธิสภาพนั้น ทำให้จมูกไม่ได้กลิ่น) หรือมีโอกาสที่จะได้กลิ่นมากขึ้น (กรณีพยาธิสภาพนั้น ทำให้จมูกได้กลิ่นน้อยลง) มากกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้ฝึกดมกลิ่นที่ผู้ป่วยคุ้นเคยบ่อยๆ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ]


3.กรณีที่จมูกไม่ได้กลิ่น หรือได้กลิ่นน้อยลง เกิดจากอุบัติเหตุ หรือการติดเชื้อไวรัสนั้น คำถามที่ผู้ป่วยและญาติมักจะถามคือ จะหายหรือไม่ ใช้เวลานานเท่าใดจึงจะหาย คำตอบขึ้นอยู่กับความรุนแรงของพยาธิสภาพที่เส้นประสาทรับกลิ่น (degree or severity of injury)


ถ้ามีความรุนแรงของพยาธิสภาพที่เส้นประสาทรับกลิ่นมาก เช่น เส้นประสาทรับกลิ่นขาดออกจากกัน หรือมีการเสียส่วนของเส้นประสาทรับกลิ่นมาก ผู้ป่วยมักจะไม่ได้กลิ่นเลย (anosmia) หรือได้กลิ่นบ้าง แต่น้อยมาก (severe hyposmia) หลังเกิดพยาธิสภาพ โอกาสที่การรับกลิ่นจะกลับมา ค่อนข้างน้อย หรืออาจไม่มีโอกาสที่จะได้กลิ่น หรือได้กลิ่นดีขึ้นอีกเลย


ถ้ามีความรุนแรงของพยาธิสภาพที่เส้นประสาทรับกลิ่นน้อย เช่น เส้นประสาทรับกลิ่นไม่ได้ขาดออกจากกัน เพียงแค่บวม ทำให้เส้นประสาทรับกลิ่นทำงานไม่ได้เลย (ไม่ได้กลิ่น) หรือทำงานได้น้อย (ได้กลิ่นบ้างแต่น้อย) หรือมีการเสียส่วนของเส้นประสาทรับกลิ่นน้อย ผู้ป่วยก็จะมีโอกาสที่การรับกลิ่นจะกลับมาค่อนข้างมาก


จากการศึกษาพบว่า หลังเกิดพยาธิสภาพที่เส้นประสาทรับกลิ่น ไม่ว่าจากอุบัติเหตุ หรือเชื้อไวรัส ถ้าผู้ป่วยไม่ได้กลิ่น หรือได้กลิ่นน้อย โอกาสที่จะกลับมาได้กลิ่น หรือได้กลิ่นมากขึ้นนั้น มักจะอยู่ในช่วงระยะเวลา 6 เดือนแรก หลังมีพยาธิสภาพ (กลุ่มนี้มีพยากรณ์โรคดี) แต่ถ้า 6 เดือน หลังมีพยาธิสภาพ ปัญหาการรับกลิ่นไม่ดีขึ้นเลย โอกาสที่จะกลับมาได้กลิ่น หรือได้กลิ่นมากขึ้น มักจะอยู่ในช่วง 6 เดือน - 1 ปี 6 เดือน หลังมีพยาธิสภาพ ซึ่งเป็นช่วงที่สอง แต่ถ้าหลังจาก 1 ปี 6 เดือน ไปแล้ว ปัญหาการรับกลิ่นยังไม่ดีขึ้นเลย ผู้ป่วยจะมีโอกาสน้อยลงที่จะได้รับกลิ่น (กรณีไม่ได้กลิ่น) หรือมีโอกาสได้รับกลิ่นมากขึ้น (กรณีได้กลิ่นน้อย) แต่ไม่ได้หมายความว่า จะไม่มีโอกาสกลับมาดีขึ้นอีกแล้ว (เพราะอนาคตเป็นสิ่งที่ไม่มีใครทราบแน่นอน พยาธิสภาพของการสูญเสียการรับกลิ่นอาจจะเท่าเดิม, ดีขึ้น หรือแย่ลงก็เป็นไปได้) ถ้าการสูญเสียการรับกลิ่นนั้นไม่ดีขึ้น ผู้ป่วยควรทำใจยอมรับ เรียนรู้ที่จะอยู่กับการสูญเสียการรับกลิ่นนั้นให้ได้ (เมื่อใจยอมรับได้ ความทุกข์ก็จะน้อยลง แต่ถ้าใจยอมรับไม่ได้ ความทุกข์ก็จะมากขึ้น


4.ในกรณีผู้ป่วยมีความสามารถในการรับกลิ่นน้อยลง (hyposmia) แต่ไม่ดีขึ้น อย่างน้อย ควรทราบว่า อะไรคือเหตุที่อาจทำให้ความสามารถในการรับกลิ่นนั้นแย่ลง และควรหลีกเลี่ยงเหตุนั้น ซึ่งได้แก่


อุบัติเหตุที่มากระทบศีรษะ ซึ่งอาจทำให้มีการบาดเจ็บของเส้นประสาทรับกลิ่นมากยิ่งขึ้น


การติดเชื้อไวรัส โดยเฉพาะหวัด หรือจมูกอักเสบ (การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน) โดยพยายามหลีกเลี่ยงเหตุที่ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายแย่ลง (ได้แก่ เครียด นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ โดนหรือสัมผัสอากาศที่เย็นมากๆ เช่น ขณะนอนเปิดแอร์ หรือพัดลมเป่าจ่อ ไม่ได้ใส่เสื้อผ้า หรือไม่ได้ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายเพียงพอ การดื่มหรืออาบน้ำเย็น ตากฝน หรือสัมผัสกับอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น จากร้อนเป็นเย็น เย็นเป็นร้อน หรือมีคนรอบข้างที่ไม่สบายคอยแพร่เชื้อให้เราทั้งที่บ้านและที่ทำงาน) และควรออกกำลังกายแบบแอโรบิกอย่างสม่ำเสมอ คือการออกกำลังกายที่ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น หายใจเร็วขึ้นต่อเนื่องกัน เช่น วิ่ง, เดินเร็ว, ขึ้นลงบันได, ว่ายน้ำ, ขี่จักรยานแบบปรับน้ำหนักความฝืดได้, เตะฟุตบอล, เล่นเทนนิส, แบดมินตัน หรือบาสเกตบอล อย่างน้อยวันละ 30 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง มีภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัสได้ดี เนื่องจากเชื้อไวรัส อาจทำให้มีการบาดเจ็บของเส้นประสาทรับกลิ่นมากยิ่งขึ้น


การสัมผัสกับยา, สารเคมี, สารพิษ กลิ่นฉุน ที่อาจสูดเข้าไปในโพรงจมูก หรือรับประทานเข้าไป แล้วทำให้มีการบาดเจ็บของเส้นประสาทรับกลิ่นมากยิ่งขึ้น


ในกรณีที่ผู้ป่วยมีการสูญเสียการรับกลิ่นจากโรคจมูกอักเสบชนิดภูมิแพ้ และไม่แพ้, ไซนัสอักเสบ, ริดสีดวงจมูก ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงเหตุที่อาจกระตุ้นทำให้เกิดการอักเสบในโพรงจมูกและ/หรือไซนัสนั้นเพิ่มมากขึ้น จนทำให้เยื่อบุจมูกบวมมาก

แล้วทำให้อากาศไม่สามารถเข้าไปในโพรงจมูก และไปสู่เซลล์ประสาทรับกลิ่นที่อยู่บนเพดานของโพรงจมูก หรือฐานของกะโหลกศีรษะ ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้กลิ่น หรือได้กลิ่นน้อยลง (conductive olfactory loss)

แล้วบวมออกมาเป็นก้อนริดสีดวงจมูก หรือบวมมากจนไปอุดรูเปิดของไซนัสในโพรงจมูก ทำให้เกิดไซนัสอักเสบ ซึ่งทั้งริดสีดวงจมูกและไซนัสอักเสบ อาจทำให้เกิดการอักเสบของเส้นประสาทรับกลิ่น ทำให้ไม่ได้กลิ่น หรือได้กลิ่นน้อยลง (sensory olfactory loss) และอาจทำให้เยื่อบุจมูกบวม จนอากาศไม่สามารถเข้าไปในโพรงจมูก และไปสู่เซลล์ประสาทรับกลิ่นที่อยู่บนเพดานของโพรงจมูกได้ (conductive olfactory loss)

อย่านิ่งนอนใจนะครับ..........เมื่อจมูกไม่ได้กลิ่น หรือได้กลิ่นน้อยลง.......... ปรึกษาแพทย์ดีกว่าครับ

Last update: 15 มิถุนายน 2559