เสียงเปลี่ยนไป...ในผู้สูงอายุ

เสียงเปลี่ยนไป...ในผู้สูงอายุ

อ.พญ.จันธิชา เลาหกิตติกุล

ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น


ในปัจจุบัน ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การดูแลคนไข้ในกลุ่มนี้ต้องดูแลอย่างเป็นองค์รวม โรคในผู้สูงอายุมักเกิดจากความเสื่อมถอยของอวัยวะต่าง ๆ ไม่เว้นแม้แต่สายเสียง

ทำไมเราถึงสามารถแยกแยะเสียงคนหนุ่มสาวและเสียงคนสูงอายุได้ แม้ไม่เห็นใบหน้า?
เสียงของผู้สูงอายุจะเริ่มเปลี่ยนไปตั้งแต่อายุประมาณ 65 ปี มักจะพบร่วมกับภาวะหูตึง เมื่อผู้สูงอายุเริ่มมีเสียงที่เปลี่ยนไป เสียงไม่ไพเราะ เสียงไม่ใสเหมือนเดิม อาจทำให้เกิดภาวะเครียด อาย ไม่กล้าพูด เกิดการหลีกเลี่ยงการเข้าสังคม นำมาซึ่งภาวะซึมเศร้าได้

เสียงของผู้สูงอายุต่างจากเสียงของวัยหนุ่มสาวอย่างไร?
เสียงของผู้สูงอายุจะมีการเปลี่ยนแปลงไปได้หลายรูปแบบ เช่น เสียงแหบพร่า เสียงพูดมีลมรั่ว เสียงพูดค่อยหรือเบาลง เสียงสั่น และไม่สามารถคุมโทนเสียงให้คงที่ได้

ภาวะนี้เกิดขึ้นจากอะไร?
ลักษณะของสายเสียงของผู้สูงอายุจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ดังนี้

  1. เนื้อสายเสียงฝ่อลงทั้งสองข้าง ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างสายเสียง เวลาออกเสียงจึงมีเสียงลมรั่ว
  2. ความยืดหยุ่นของสายเสียงลดลง
  3. ข้อต่อที่ใช้ในการขยับสายเสียงมีภาวะฝืด ติดขัด ทำให้สายเสียงไม่พลิ้วไหวเหมือนเดิม

จากงานวิจัย พบว่าในนักร้อง นักเทศน์ หรือผู้ที่ใช้เสียงอย่างถูกวิธีเป็นประจำ จะพบภาวะเสียงเปลี่ยนเช่นนี้น้อยกว่าคนทั่วไป ดังนั้นการฝึกใช้เสียงอย่างถูกวิธีเป็นประจำ จะช่วยลดภาวะเสียงเปลี่ยนเมื่ออายุมากขึ้นได้

ผู้สูงอายุที่มีเสียงเปลี่ยนไป จะมีวิธีการดูแลรักษาอย่างไรได้บ้าง?

1. การดูแลสายเสียงและดูแลสุขภาพ ที่ส่งผลให้เกิดการเปล่งเสียงที่มีคุณภาพ ประกอบด้วย

  • จิบน้ำบ่อยๆ เนื่องจากในผู้สูงอายุจะมีภาวะปากแห้ง คอแห้ง
  • หลีกเลี่ยงการกระแอม ตะโกน หรือพูดติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและปอด หากปอดแข็งแรง ลมที่ออกมาจะมากพอที่จะทำให้เกิดเสียงที่มีพลังได้
  • ผ่อนคลาย และลดความเครียด เนื่องจากจิตใจที่แจ่มใส จะทำให้เกิดสุขภาพที่แข็งแรง

2.การฝึกพูด และฝึกการเปล่งเสียงอย่างถูกวิธี

  • ถ้าผู้สูงอายุมีปัญหาเรื่องเสียง ควรได้รับการฝึกพูดกับนักแก้ไขการพูด โดยจะมีโปรแกรมฝึกการเปล่งเสียงที่ถูกต้อง เพื่อให้ผู้สูงอายุมีเสียงที่ทรงพลังและก้องกังวานมากขึ้น โดยจะต้องหมั่นฝึกซ้อมตามโปรแกรมที่จัดไว้ เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด วิธีนี้เป็นวิธีที่ดี แต่ต้องใช้ความอดทน และการหมั่นฝึกฝนเสียงอยู่เสมอ เช่นเดียวกับนักร้อง

3. การผ่าตัด วิธีนี้มักใช้เป็นตัวเลือกหลังสุด เนื่องจาก การผ่าตัดในผู้สูงอายุมีความเสี่ยง จะทำในกรณีที่การรักษาสองวิธีข้างต้นแล้วผู้ป่วยยังไม่พอใจในเสียง ซึ่งการผ่าตัดสายเสียงประกอบด้วย

  • การส่องกล้องเพื่อฉีดสารเข้าในสายเสียง ซึ่งจะทำให้สายเสียงที่ฝ่อกลับมาตึงและปิดได้สนิท
  • การผ่าตัดจากภายนอก เพื่อใส่วัสดุบางอย่างไปดันสายเสียงให้กลับมาปิดได้สนิท

อาการเสียงแหบในผู้สูงอายุ มักจะมีอาการค่อยเป็นค่อยไป เสียงจะแหบพร่าและสั่นมากขึ้นทีละน้อยตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น ในกรณีที่เสียงแหบเป็นทันทีทันใด หรือเป็นมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ควรไปพบโสต ศอ นาสิกแพทย์ เพื่อส่องกล้องตรวจสายเสียงโดยละเอียด เนื่องจากภาวะดังกล่าวอาจเกิดจากโรคอื่นๆที่ไม่ใช่ภาวะเสียงเปลี่ยนในผู้สูงอายุได้ เช่น สายเสียงอักเสบจากการติดเชื้อ เนื้องอกบริเวณสายเสียง หรือ โรคทางระบบประสาท เป็นต้น

Last update: 27 กุมภาพันธ์ 2563