เป็นหวัดหรือมีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจเฉียบพลัน...ต้องกินยาต้านจุลชีพไหม

 

เป็นหวัดหรือมีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจเฉียบพลัน...ต้องกินยาต้านจุลชีพไหม

รศ. นพ. ปารยะ อาศนะเสน
สาขาโรคจมูกและโรคภูมิแพ้
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

 

               “เป็นหวัดหรือมีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบนเฉียบพลัน...ต้องกิน หรือจ่ายยาต้านจุลชีพ”เป็นความเชื่อของผู้ป่วย เภสัชกร หรือแพทย์บางท่าน ที่ยากแก่การแก้ไข เพราะมักเชื่อว่า

                1) การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ต้องกินยาต้านจุลชีพ หรือยาต้านจุลชีพ (antibiotic) จึงจะหาย

               2) การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน ถึงแม้จะเกิดจากเชื้อไวรัส ต้องกินยาต้านจุลชีพไว้ก่อน เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติม เพราะถ้าปล่อยให้แบคทีเรียซ้ำเติม อาการจะแย่ลงหรือหนักมากขึ้น กันไว้ก่อนดีกว่า
               3) การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน ไม่ว่าจะเกิดจากเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรีย จะเกิดการอักเสบของทางเดินหายใจส่วนบน ถ้าไม่กินยาต้านจุลชีพจะไม่หาย เพราะหายไม่หาย อยู่ที่ยาต้านจุลชีพเป็นสำคัญ ไม่ได้อยู่ที่อย่างอื่น

                การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน (upper respiratory tract infection) ได้แก่
                • โรคจมูกอักเสบ (acute rhinitis) หรือที่มักเรียกว่า “หวัด” ทำให้มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดหรือมึนศีรษะ คัดจมูก น้ำมูกไหล (มีสีใส, ขุ่น หรือเหลืองเขียว)
                • โรคไซนัสอักเสบ (acute rhinosinusitis) ทำให้มีไข้ คัดจมูก น้ำมูก หรือเสมหะมีสีเหลือง หรือเขียวข้นตลอด ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น อ่อนเพลีย ไอ ปวดศีรษะ ปวดจมูก, โหนกแก้ม, รอบตา หรือหน้าผาก
                • โรคหูชั้นกลางอักเสบ (acute otitis media) ทำให้ผู้ป่วยมีไข้ ปวดหู หูอื้อ อาจมีหนองไหลออกมาจากหู มีเสียงดังในหู อาจมีอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุนได้ในผู้ป่วยบางราย
                • โรคคอ หรือต่อมทอนซิลอักเสบ (acute pharyngitis or tonsillitis) ทำให้มีไข้ เจ็บคอ กลืนอาหาร หรือกลืนน้ำลายแล้วเจ็บ หรือติดขัด
                • โรคสายเสียง หรือกล่องเสียงอักเสบ (acute laryngitis) ทำให้ไอ ระคายคอ มีเสียงแหบแห้ง
                • โรคหลอดลมอักเสบ (acute bronchitis) ทำให้ไอ มีเสมหะ เจ็บหน้าอก
                • โรคปอดอักเสบ หรือปอดบวม (pneumonia) ทำให้มีไข้ ไอ หอบ
                ดังนั้นส่วนใหญ่ เมื่อผู้ป่วย มีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ผู้ป่วยมักจะซื้อยาต้านจุลชีพกินเอง หรือเภสัชกรที่ร้านขายยาเป็นผู้จ่ายยาให้ หรือแม้แต่แพทย์เอง ก็จ่ายยาต้านจุลชีพให้ผู้ป่วยกิน เนื่องจากเชื่อเช่นเดียวกับผู้ป่วย หรือทราบ แต่ไม่มีเวลาอธิบายให้ผู้ป่วยฟัง หรืออธิบายแล้ว แต่ผู้ป่วยก็ไม่เชื่ออยู่ดี และรบเร้าให้แพทย์จ่ายยาต้านจุลชีพให้ จึงจ่ายให้เพื่อตัดความรำคาญ ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว สาเหตุส่วนใหญ่ของการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจนั้นเกิดจากเชื้อไวรัส (ได้แก่ rhinovirus, influenza, parainfluenza, adenovirus) จึงไม่มีความจำเป็นสำหรับผู้ป่วยที่ต้องกินยาต้านจุลชีพ เมื่อผู้ป่วยมีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เป็นมาไม่เกิน 7-10 วัน เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะหายได้เอง ถ้าผู้ป่วยปฏิบัติตนอย่างถูกต้อง และเหมาะสม แต่ถ้าผู้ป่วยมีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจมานานเกิน 7-10 วัน (มักจะมีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย) หรือมีหลักฐานที่บ่งบอกว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินหายใจ การกินยาต้านจุลชีพในกรณีดังกล่าวจึงสมเหตุสมผล
                นอกจากนั้นความเชื่ออีกอย่างหนึ่งที่มักเข้าใจกันผิด คือ ดูสีของน้ำมูกหรือเสมหะ ถ้าน้ำมูกหรือเสมหะมีสีเหลือง หรือเขียว เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียแน่นอน ต้องกินยาต้านจุลชีพจึงจะหาย ความเป็นจริงแล้ว การที่น้ำมูกหรือเสมหะค้างอยู่ในจมูก หรือหลอดลมนานๆ ก็จะทำให้น้ำมูก หรือเสมหะมีสีเหลือง หรือเขียวได้ โดยที่ไม่มีการติดเชื้อแบคทีเรีย ดังนั้นประวัติที่ได้จากผู้ป่วยว่า น้ำมูกหรือเสมหะมีสีเหลือง หรือเขียวไม่ได้บ่งบอกว่าผู้ป่วยติดเชื้อแบคทีเรีย และต้องกินยาต้านจุลชีพเสมอไป
                บางกรณี ถึงแม้การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบนเป็นมาไม่เกิน 7-10 วัน แต่อาจมีความจำเป็นต้องกินยาต้านจุลชีพ เนื่องจากมักมีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย ได้แก่
                1) ผู้ป่วยเป็นโรคไซนัสอักเสบเฉียบพลันที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย (acute bacterial rhinosinusitis) (รูปที่ 1) นอกจากอาการดังกล่าวข้างต้นแล้ว การตรวจจมูกจะพบเยื่อบุจมูกบวม แดง มีน้ำมูกสีเหลือง หรือเขียวภายในโพรงจมูก หรือมีเสมหะสีเหลือง หรือเขียวไหลลงคอ อาจมีการกดเจ็บที่บริเวณหน่าผาก หัวตา หรือโหนกแก้ม

                2) ผู้ป่วยเป็นโรคต่อมทอนซิลอักเสบเฉียบพลันที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย (acute bacterial tonsillitis) (รูปที่ 2) นอกจากอาการดังกล่าวข้างต้นแล้ว การตรวจคอจะพบต่อมทอนซิลบวม แดง มีตุ่มหนองบนต่อมทอนซิล อาจพบจุดเลือดออกบนเพดานอ่อน หรือมีต่อมน้ำเหลืองที่คอโต และกดเจ็บ
                3) ผู้ป่วยเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลันที่เกิดจาการติดเชื้อแบคทีเรีย (acute bacterial otitis media) (รูปที่ 3) ผู้ป่วยมักมีประวัติไข้หวัด หรือจมูกอักเสบนำมาก่อน ต่อมามีอาการดังกล่าวข้างต้น ตรวจหูพบเยื่อแก้วหูบวม, แดง, ทึบ อาจเห็นระดับหนองภายในหูชั้นกลางหลังเยื่อแก้วหู ซึ่งกรณีดังกล่าว ควรให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยโรค

               ดังนั้นความเชื่อแรกจึงไม่ถูกต้อง เพราะผู้ป่วยกินยาต้านจุลชีพ ซึ่งฆ่าเชื้อแบคทีเรีย แต่การเจ็บป่วยของผู้ป่วยมีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัส การกินยาต้านจุลชีพจึงไม่ช่วยอะไร ซ้ำร้ายยังกระตุ้นให้แบคทีเรียที่อยู่ประจำในจมูก และลำคอมีการดื้อยาเพิ่มขึ้นด้วย
               สำหรับความเชื่อที่ 2 นั้น จากการศึกษาพบว่า การกินยาต้านจุลชีพไม่ได้ช่วยป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติม แถมยังมีผลเสียทำให้เชื้อแบคทีเรียเกิดการดื้อยาเพิ่มขึ้นด้วย
               ส่วนความเชื่อที่ 3 การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ จะหายหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับผู้ป่วย ว่าสามารถหลีกเลี่ยงเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยมีภูมิต้านทานลดลงและนำมาสู่การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจได้หรือไม่ (เช่นเครียด, นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ, โดนหรือสัมผัสอากาศที่เย็นมากๆ ตากฝน สัมผัสอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สัมผัสกับคนรอบข้างที่ป่วย) และปฏิบัติตัวได้เหมาะสมหรือถูกต้องหรือไม่ เพราะการที่ผู้ป่วยจะหายหรือไม่หายนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับยาที่แพทย์จ่ายให้ หรือยาต้านจุลชีพ
               ดังนั้น ท่านมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจแล้วนะครับ ว่าเมื่อท่านมีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ท่านควรจะกินยาต้านจุลชีพหรือไม่

Last update: 24 กรกฎาคม 2557