ท่อยูสเตเชียนทำงานผิดปกติ (Eustachian Tube Dysfunction)



ผศ.นพ. ปารยะ อาศนะเสน

ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา   คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

 

      โดยปกติ ร่างกายเรามีท่อยูสเตเชียน ซึ่งเป็นท่อที่เชื่อมต่อระหว่าง หูชั้นกลาง และโพรงหลังจมูก  ทำหน้าที่ช่วยปรับความดันของหูชั้นกลางให้เท่ากับบรรยากาศภายนอก   เมื่อใดที่ท่อนี้ทำงานผิดปกติไป จะทำให้เกิดอาการหูอื้อ, ปวดหู, มีเสียงดังในหู หรือเวียนศีรษะ บ้านหมุนได้   ตัวอย่างในชีวิตประจำวันที่เราพบได้บ่อยคือ เวลาขึ้นหรือลงลิฟท์เร็วๆ  หรือเครื่องบินขึ้น หรือลงเร็วๆ หรือ เวลาดำน้ำ หรือ เวลาเป็นหวัด หรือ ไซนัสอักเสบ หรือภูมิแพ้กำเริบ จะมีอาการหูอื้อ, ปวดหู, มีเสียงดังในหู หรือเวียนศีรษะ บ้านหมุนจากท่อยูสเตเชียนที่ทำงานผิดปกติ

สาเหตุ

1. การเปลี่ยนแปลงระดับความกดดันบรรยากาศอย่างรวดเร็ว หรือในระยะเวลาอันสั้น เช่น ขึ้นหรือลงลิฟท์เร็วๆ, เครื่องบินขึ้นหรือลงเร็ว, ดำน้ำโดยลดระดับเร็วเกินไป
2. การอักเสบของจมูก, ไซนัส หรือโพรงหลังจมูก เนื่องจากเยื่อบุจมูก, ไซนัส และโพรงหลังจมูก ต่อกับเยื่อบุรอบท่อยูสเตเชียน ซึ่งอยู่ที่โพรงหลังจมูก เมื่อผู้ป่วยเป็นหวัด, ไซนัสอักเสบ หรือมีอาการของโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ หรือมีการอักเสบของต่อมอดีนอยด์ (ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อหรือต่อมน้ำเหลืองอยู่ที่โพรงหลังจมูก) หรือการอักเสบของโพรงหลังจมูกจากการฉายแสง จะทำให้เยื่อบุรอบท่อยูสเตเชียนบวม ทำให้มีการทำงานผิดปกติได้
3. มีก้อนไปอุดรูเปิดของท่อยูสเตเชียน ทำให้ท่อยูสเตเชียนทำงานผิดปกติไป  เกิดความดันเป็นลบในหูชั้นกลาง เช่น ต่อมอดีนอยด์ที่มีขนาดโตจนไปอุดรูเปิดของท่อยูสเตเชียน, มะเร็งของโพรงหลังจมูกที่ลามไปที่ท่อยูสเตเชียน ทำให้ท่อนี้ทำงานผิดปกติไป

 

การตรวจหู โดยแพทย์ อาจพบลักษณะต่างๆ ดังต่อไปนี้

1. เยื่อบุแก้วหูทึบ เห็นเป็นสีน้ำเงิน สีแดง รือสีเหลือง และมีของเหลว หรือลิ่มเลือดอยู่ภายในหูชั้นกลาง
2. เยื่อบุแก้วหู ถูกดึงรั้งเข้าไปในหูชั้นกลาง  เนื่องจากมีความดันในหูชั้นกลางที่เป็นลบ
3. อาจพบเลือดออกบนเยื่อแก้วหู เป็นหย่อมๆ กระจายทั่วไปได้
4. เยื่อบุแก้วหูบางส่วน อาจบวม แดง เนื่องจากมีเลือดคั่งมากกว่าปกติได้
5. ในรายที่เป็นรุนแรง อาจเห็นเยื่อบุแก้วหูฉีกขาดได้ 

 

ดังนั้น จะทำอย่างไรดี…………..เมื่อท่อยูสเตเชียนทำงานผิดปกติ

1.  ไม่ว่าจะมีอาการทางจมูก เช่น คัน, จาม, คัดจมูก, น้ำมูกไหล หรือไม่มีก็ตาม  ควรใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการอักเสบทางจมูก เช่น รับประทานยาแก้แพ้ (ยาต้านฮิสตะมีน), ยาหดหลอดเลือด (oral decongestant เช่น pseudoephedrine) หรือ พ่นจมูกด้วยยาหดหลอดเลือด (topical decongestant เช่น ephedrine, oxymetazoline) อาจร่วมกับการล้างจมูก, การสูดไอน้ำร้อน, การพ่นยาสเตียรอยด์ในจมูก เพื่อทำให้การอักเสบภายในจมูกลดน้อยลง ซึ่งจะส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงท่อยูสเตเชียนลดน้อยลง เยื่อบุรอบรูเปิดท่อยูสเตเชียนยุบบวมลง ทำให้ของเหลวที่คั่งอยู่ในหูชั้นกลาง สามารถระบายไหลผ่านท่อยูสเตเชียนได้ดีขึ้น  และท่อยูสเตเชียนกลับมาทำงานปกติได้เร็วขึ้น

2.  นอกจากนั้น ควรทำให้ท่อยูสเตเชียนทำงานเปิด-ปิดอยู่ตลอด เช่น

  • เคี้ยวหมากฝรั่ง เพื่อให้มีการกลืนน้ำลายบ่อยๆ ซึ่งขณะกลืนน้ำลาย  จะมีการเปิดของท่อยูสเตเชียน หรือ
  • ทำ Toynbee maneuver คือบีบจมูก 2 ข้าง และกลืนน้ำลาย 1 ครั้ง (ท่อยูสเตเซียนจะเปิด และเกิดความดันที่เป็นลบในหูชั้นกลาง) และเอามือที่บีบจมูกออก และกลืนน้ำลาย 1 ครั้ง  (ท่อยูสเตเซียนจะเปิด และทำให้ความดันที่เป็นลบในหูชั้นกลางหายไป)   หรือ
  • ทำ Valsalva maneuver ซึ่งทำได้โดยให้ผู้ป่วยสูดหายใจเข้าเต็มที่ และปิดจมูก (เอามือบีบจมูกไว้) และปาก แล้วเบ่งลมให้อากาศผ่านทางจมูกที่ปิด อากาศจะผ่านไปที่ท่อยูสเตเชียน เข้าสู่หูชั้นกลาง(ท่อยูสเตเซียนจะเปิด และเกิดความดันที่เป็นบวกในหูชั้นกลาง) และเอามือที่บีบจมูกออก และกลืนน้ำลาย 1 ครั้ง (ท่อยูสเตเซียนจะเปิด และทำให้ความดันที่เป็นบวกในหูชั้นกลางหายไป)  ขณะที่เป็นหวัด หรือไซนัสอักเสบซึ่งมีการติดเชื้อในจมูก ไม่ควรทำวิธีนี้ เพราะจะทำให้เชื้อโรคในจมูก หรือไซนัส เข้าไปสู่หูชั้นกลางได้

3. ถ้าทำ 2 วิธีดังกล่าวข้างต้น แล้วไม่ดีขึ้น อาจรักษาโดยวิธีผ่าตัด คือการเจาะเยื่อบุแก้วหู (myringotomy) เพื่อปรับความดันของหูชั้นกลางให้เท่ากับบรรยากาศภายนอก และระบายของเหลวภายในหูชั้นกลาง (ถ้ามี) ในผู้ป่วยบางราย อาจต้องใส่ท่อ (myringotomy tube) คาไว้ที่เยื่อบุแก้วหู
4. ควรป้องกันตนเองไม่ให้เป็นหวัด (โดยการหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายลดลง  เช่น  เครียด,  นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ,   การสัมผัสอากาศที่เย็นมากเกินไป  เช่น ขณะนอน เปิดแอร์หรือพัดลมเป่าจ่อ  ไม่ได้ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายเพียงพอ   การดื่มหรืออาบน้ำเย็น    ตากฝน หรือสัมผัสอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว   จากร้อนเป็นเย็น  จากเย็นเป็นร้อน หรือมีคนรอบข้างที่ไม่สบายคอยแพร่เชื้อให้) หรือผู้ป่วยที่เป็นโรคจมูกหรือไซนัสอักเสบเรื้อรัง ควรป้องกันไม่ให้อาการทางจมูกหรือไซนัสกำเริบ (โดยการหลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการเช่น ความเครียด, การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ, อารมณ์เศร้า, วิตก,  กังวล,  เสียใจ, ของฉุน,  ฝุ่น,  ควัน,  อากาศที่เปลี่ยนแปลง และการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ  หรือ หวัด) เนื่องจากถ้ามีการอักเสบในโพรงจมูก และ/หรือไซนัส จะส่งผลถึงรูเปิดของท่อยูสเตเชียน ซึ่งอยู่ที่โพรงหลังจมูก  ทำให้ท่อยูสเตเชียนทำงานผิดปกติไป เกิดปัญหาของหูดังกล่าว
 

การป้องกัน

1.  หลีกเลี่ยงการขึ้นเครื่องบิน หรือการขึ้น-ลงที่สูง การดำน้ำขณะที่เป็นหวัด, ไซนัสอักเสบ หรือมีอาการภูมิแพ้กำเริบ
2.  หลีกเลี่ยงการหลับในขณะเครื่องบินขึ้นหรือลง และในขณะที่เครื่องบินเปลี่ยนระดับ (เพิ่มหรือลดเพดานบิน) ควรนั่งอยู่ในท่าตรง เพราะขณะกำลังหลับ ท่อยูสเตเชียนจะปิดตลอดเวลา และถ้าอยู่ในท่านอน ท่อยูสเตเชียนจะเปิดได้ยากกว่าท่านั่ง
3.  ใช้ยาพ่นจมูกหดหลอดเลือด (topical decongestant เช่น ephedrine, oxymetazoline) ก่อนการขึ้น-ลงเครื่องบิน หรือการขึ้น-ลงที่สูง หรือการดำน้ำ ประมาณ 5 นาที หรือรับประทานยาหดหลอดเลือด (oral decongestant เช่น pseudoephedrine) ก่อนการขึ้น-ลงเครื่องบิน หรือการขึ้น-ลงที่สูง หรือการดำน้ำ ประมาณ ½ ชั่วโมง ซึ่งจะช่วยลดการบวมของท่อยูสเตเชียนได้
4.  ควรทำให้ท่อยูสเตเชียนทำงานเปิด-ปิดอยู่ตลอด (เคี้ยวหมากฝรั่ง, กลืนน้ำลายบ่อยๆ, Toynbee maneuver, Valsalva maneuver) ขณะขึ้น-ลงเครื่องบิน หรือขึ้น-ลงที่สูง หรือ ดำน้ำ

 

Last update: 12 ตุลาคม 2552