Last update: 16.04.2009
อาการ คัดจมูกเป็นอาการทางจมูกที่พบได้บ่อยและไม่จำเพาะเจาะจงกับโรคใดโรคหนึ่ง จึงต้องวินิจฉัยแยกโรคจากโรคของจมูกหลายโรค อาการคัดจมูกในโรคบางโรค สามารถหายได้เองโดยไม่ต้องใช้ยา ได้แก่ โรคหวัด หรือโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ที่มีอาการเล็กน้อย อาการคัดจมูกอย่างมาก หรือคัดจมูกตลอดเวลาทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยแย่ลง และอาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะรุนแรง หรือเกิดโรคไซนัสอักเสบตามมาได้ เนื่องจากอาการคัดจมูกเป็นอาการที่ผู้ป่วยบอกกับแพทย์ ดังนั้นการวินิจฉัยโรคที่เป็นสาเหตุของอาการคัดจมูก จำเป็นต้องอาศัยการซักประวัติ, การตรวจร่างกาย และการสืบค้นเพิ่มเติมเพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรค
มะเร็งกล่องเสียง (Laryngeal Cancer)……….รักษาหายได้ ถ้ามาพบแพทย์แต่เนิ่นๆ
รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
มะเร็งกล่องเสียง คืออะไร
มะเร็งกล่องเสียง หมายถึง เนื้องอกร้ายที่เกิดขึ้นบริเวณเนื้อเยื่อบุผิวของกล่องเสียง เป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยชนิดหนึ่งของคนทั่วโลก (พบได้ประมาณร้อยละ 2 ของมะเร็งทั้งหมด) ถึงแม้ยังไม่ติดหนึ่งในสิบของมะเร็งที่พบบ่อยก็ตาม แต่ถ้านับเฉพาะมะเร็งของ หู คอ จมูก มะเร็งกล่องเสียงจะอยู่ในอันดับที่ 3 รองลงมาจากมะเร็งหลังโพรงจมูก และโรคมะเร็งโพรงจมูก ชนิดของมะเร็งกล่องเสียงที่พบได้บ่อยที่สุดคือ squamous cell carcinoma
กายวิภาคของกล่องเสียง
กล่องเสียงเป็นอวัยวะที่อยู่ ด้านหน้าของ ลำคอ ขนาดกว้างประมาณ 5 เซนติเมตร กล่องเสียงประกอบด้วยกล้ามเนื้อสองแถบที่ทำหน้าที่เป็นสายเสียง และมีกระดูกอ่อนอยู่ทางด้านหน้า โดยอาจแบ่งออกเป็นสามส่วน คือส่วนบน ส่วนกลาง และส่วนล่าง มีหน้าที่ในการออกเสียง ช่วยการหายใจ และช่วยการกลืนอาหาร การเปิด-ปิด ของกล่องเสียง จะสัมพันธ์ กับการหายใจ การพูด และการกลืนอาหาร
- การหายใจ เมื่อกลั้นหายใจ สายเสียง จะปิดแน่น แต่เมื่อมีการหายใจ สายเสียงจะผ่อนคลายและเปิดออก
- การพูด เวลาพูด จะมีการเคลื่อนไหว ของสายเสียงเข้าหากัน ลมจากปอดจะผ่านสายเสียง และทำให้เกิดการสั่นสะเทือนของสายเสียง แรงสั่นสะเทือนนี้เองที่ทำให้เกิดเสียงขึ้น
- การกลืน กล่องเสียงจะป้องกันไม่ให้อาหารและน้ำ สำลักลงไปในหลอดลม และปอด
กล่องเสียง แบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน คือ
อุบัติการณ์ของมะเร็งกล่องเสียง
มะเร็งกล่องเสียง พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 10 เท่า และพบบ่อยในผู้สูงอายุที่มีประวัติสูบบุหรี่จัดมานาน โดยเฉลี่ยอายุของผู้ป่วยโรคนี้ประมาณ 50-70 ปี ในสหรัฐอเมริกาพบมะเร็งกล่องเสียง ได้ ประมาณ 5 รายต่อประชากร 100,000 คน (รวมทั้งผู้หญิงและผู้ชาย) ต่อปี ส่วนในประเทศไทย ระหว่าง พ.ศ. 2544-2546 พบโรคนี้ในผู้หญิง 0.3 รายต่อประชากรหญิง 100,000 คน และในผู้ชาย 2.5 รายต่อประชากรชาย 100,000 คน มะเร็งกล่องเสียง สามารถเกิดได้กับกล่องเสียงในทุกตำแหน่ง โดยในคนไทย พบมะเร็ง ที่ กล่องเสียง ส่วนที่อยู่เหนือสายเสียงมากที่สุด รองลงไป คือ กล่องเสียงส่วนสายเสียง และ กล่องเสียงส่วนที่อยู่ใต้สายเสียง ตามลำดับ จากสถิติทะเบียนมะเร็งประเทศไทยมีการรายงานผู้ป่วยมะเร็งกล่องเสียง ลดลง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536-2549
สาเหตุ ของมะเร็งกล่องเสียง
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอนของมะเร็งกล่องเสียง แต่ ปัจจัยที่ทำให้เกิดมะเร็งกล่องเสียง ได้แก่
1. การสูบบุหรี่ การเผาไหม้ของบุหรี่สามารถทำให้เกิดสารก่อมะเร็ง นอกจากนั้น ควันของบุหรี่จะทำให้ขนกวัดของเยื่อบุกล่องเสียง หยุดการเคลื่อนไหว หรือเคลื่อนไหวช้าลง มีสารคัดหลั่ง หรือสารระคายเคืองค้างอยู่ ทำให้เยื่อบุของกล่องเสียงหนาตัวขึ้นและเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพเซลล์ ( squamous metaplasia ) กลายเป็นเซลล์มะเร็ง ได้ พบว่าปัจจัยนี้เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุด
2. ดื่มสุรา แอลกอฮอล์สามารถไปกระตุ้นเยื่อบุของกล่องเสียง เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพเซลล์ กลายเป็นเซลล์มะเร็งได้
3. การอักเสบเรื้อรังของเยื่อบุกล่องเสียง เช่น จากคอ หรือ หลอดลมที่อักเสบเรื้อรัง
4. มลพิษทางอากาศ การสูดดมอากาศที่เป็นพิษ เช่น ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และฝุ่น ควัน สารเคมี จากโรงงานอุตสาหกรรม
5. การติดเชื้อไวรัส เชื้อไวรัสสามารถทำให้เซลล์เกิดการเปลี่ยนแปลงและแบ่งเซลล์ผิดปกติได้ ไวรัสยังสามารถถ่ายทอดยีนทางพันธุกรรม ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์มะเร็งในคนรุ่นต่อไปได้ ซึ่งการติดเชื้อ human papilloma virus (HPV)-16 และ 18 มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับการเกิดมะเร็งกล่องเสียง
6. การฉายรังสี การรักษาโดยการฉายรังสีก้อนเนื้อบริเวณคอ สามารถก่อให้เกิดมะเร็งได้
7. ฮอร์โมนเพศ ผลการทดลองที่เกี่ยวข้องแสดงให้เห็นว่า ผู้ป่วยมะเร็งกล่องเสียงจะมีเซลล์ตัวรับสัญญาณเอสโตรเจนรีเซบเตอร์ ( Estrogen receptor, ER) เพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
อาการของมะเร็งกล่องเสียง
• เสียงแหบเรื้อรัง ซึ่งหาก มะเร็งเกิดที่ กล่องเสียง ส่วนสายเสียง จะแสดงอาการนี้ตั้งแต่ในระยะเริ่มแรก แต่หากเป็นที่กล่องเสียงส่วนอื่น อาการเสียงแหบที่เกิดขึ้น มักจะแสดงว่ามะเร็งอยู่ในระยะที่ลุกลามแล้ว
• กลืนอาหารลำบาก กลืนติด กลืนแล้วเจ็บ หรือสำลัก
• มีเสมหะปนเลือด
• หายใจไม่ออก หายใจติดขัด หายใจลำบาก
• เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
• มีก้อนโตที่คอ ( ก้อนมะเร็งที่ลุกลามออกมา หรือต่อมน้ำเหลือง ที่มะเร็งแพร่กระจายมา) อาจมีเพียงก้อนเดียว หรือ หลายๆก้อนได้พร้อมกัน
• เจ็บคอเรื้อรัง มีความรู้สึกเหมือนก้างติดคอ
• ปวดหู หรือไอเรื้อรัง
การดำเนินโรค ของมะเร็งกล่องเสียง
ผู้ป่วยมะเร็งกล่องเสียงที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง มักจะเสียชีวิตภายใน 1 ปี ซึ่งสาเหตุของการเสียชีวิตมักเกิดจากการลุกลามแพร่กระจายของมะเร็ง จนอุดกล่องเสียงทำให้หายใจไม่สะดวก หรือลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียง ได้แก่ หลอดเลือดแดงใหญ่ของลำคอทำให้เกิดเลือดออกมากผิดปกติ หรือกดหลอดอาหาร ทำให้ไม่สามารถกลืนอาหารได้ เป็นต้น แต่หากได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะแรก ก็สามารถช่วยให้หายขาด และพูดได้เป็นปกติ หรือแม้ในรายที่เป็นระยะลุกลาม และได้รับการผ่าตัดกล่องเสียง ก็มักจะมีชีวิตยืนยาว และสามารถฝึกพูดจนสามารถสื่อสารกับคนอื่นได้
รูปแบบการแพร่กระจายและลุกลามของมะเร็งกล่องเสียง
1. การแพร่กระจายโดยตรง โรคมะเร็งกล่องเสียงระยะสุดท้าย มักจะแพร่กระจายโดยแทรกซึมลงไปในชั้นเยื่อบุกล่องเสียงไปยังอวัยวะข้างเคียง เช่น ต่อมไทรอยด์ ซึ่งเป็นอวัยวะที่อยู่ติดกับกล่องเสียงทางด้านหน้า และหลอดอาหาร ซึ่งเป็นอวัยวะที่อยู่ติดกับกล่องเสียงทางด้านหลัง
2. การลุกลามไปยังน้ำเหลือง ตำแหน่งที่มีการลุกลามบ่อยจะอยู่ที่บริเวณหลอดเลือดแดงส่วนบนของคอ ต่อมาจะแพร่กระจายขึ้นไปตามหลอดเลือดดำในลำคอและบริเวณเนื้อเยื่อน้ำเหลือง ของคอ
3. การแพร่กระจายทางหลอดเลือด มะเร็งสามารถแพร่กระจายไปตามการไหลเวียนของเลือดทั่วร่างกาย เช่น ไป ปอด ตับ ไต กระดูก สมอง เป็นต้น
ความรุนแรงของ มะเร็งกล่องเสียง
มะเร็งกล่องเสียง จัดเป็นโรคที่มีความรุนแรงปานกลาง แต่รักษาหายได้ โดยโอกาสในการรักษาหาย นั้นขึ้นกับระยะโรค, ส่วนของกล่องเสียงที่เกิดโรค (เมื่อเกิดโรคที่กล่องเสียง ส่วนสายเสียง จะมีความรุนแรงของโรคน้อยกว่า ความรุนแรงของโรคจะสูงขึ้น เมื่อเกิดโรคที่กล่องเสียง ส่วนที่อยู่เหนือสายเสียง และความรุนแรงของโรคจะสูงมาก เมื่อเกิดโรคที่กล่องเสียง ส่วนที่อยู่ใต้สายเสียง), อายุ และสุขภาพร่างกายของผู้ป่วย
ระยะของ มะเร็งกล่องเสียง
ระยะที่ 1 มะเร็ง ลุกลามอยู่เฉพาะในกล่องเสียงเพียงส่วนเดียว
ระยะที่ 2 มะเร็ง ลุกลามเข้ากล่องเสียงตั้งแต่ 2 ส่วนขึ้นไป
ระยะที่ 3 มะเร็ง ลุกลามจนสายเสียงไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ และ/หรือ มีต่อมน้ำเหลืองที่คอโต ซึ่งมีขนาดเล็กไม่เกิน 3 ซม. เพียง 1 ต่อม
ระยะที่ 4 มะเร็ง ลุกลามเข้าผิวหนัง และ/หรือ ต่อมไทรอยด์ และ/หรือ หลอดอาหาร และ/หรือ มีต่อมน้ำเหลืองที่คอโตหลายต่อม และ/หรือ ต่อมน้ำเหลืองที่คอมีขนาดโตมากกว่า 6 ซม. และ/หรือ แพร่กระจายเข้ากระแสโลหิตไปยังอวัยวะอื่นๆ ที่อยู่ห่างจากต้นกำเนิดของมะเร็ง เช่น ปอด ตับ กระดูก และสมอง เป็นต้น
โดยทั่วไป อัตรารอดที่ 5 ปี ในระยะที่ 1 ประมาณ ร้อยละ 70-90 ใน ระยะที่ 2 ประมาณร้อยละ 60-70 ใน ระยะที่ 3 ประมาณร้อยละ 40-60 ใน ระยะที่ 4 กลุ่มที่ยังไม่มีการแพร่กระจายเข้ากระแสโลหิต ประมาณร้อยละ 20-40 ถ้ามีการแพร่กระจายเข้ากระแสโลหิตแล้ว โอกาสที่จะอยู่ได้ 2 ปี ประมาณร้อยละ 30-50
สัญญาณเตือนถึงความผิดปกติ และควรมารับการตรวจวินิจฉัย
เมื่อผู้ป่วยมีอาการดังกล่าวข้างต้น ซึ่งอาจจะบ่งบอกว่าเป็นมะเร็งกล่องเสียง ควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อให้ได้การวินิจฉัยสาเหตุของอาการดังกล่าว
การวินิจฉัย
1. การใช้กระจกส่องลงไปตรวจที่กล่องเสียง เพื่อตรวจดูว่ามีเนื้องอกบริเวณกล่องเสียงหรือไม่
2. การส่องกล้องตรวจที่กล่องเสียง และการตัดชื้นเนื้อที่สงสัย ไปตรวจทางพยาธิวิทยา ว่ามีเซลล์มะเร็งหรือไม่
3. การตรวจเลือด , ปัสสาวะ, คลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อเตรียมความพร้อมของผู้ป่วยสำหรับการดมยาสลบและส่องกล้องตรวจที่กล่องเสียง และการตัดชื้นเนื้อ
4. การตรวจพิเศษอื่นๆ เช่น เอ็กซเรย์ ปอด, เอ็กซเรย์ คอมพิวเตอร์ (CT) , ตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อให้ทราบว่า เป็นมะเร็งระยะที่เท่าไร มีการแพร่กระจายไปที่ใดบ้าง
การรักษามะเร็งกล่องเสียง
เมื่อตรวจพบว่าเป็นมะเร็งกล่องเสียง แพทย์จะให้การรักษาตามแนวทางดังนี้
ถ้าเป็นระยะแรกเริ่ม (ระยะที่ 1 และระยะที่ 2) จะรักษาโดยการฉายรังสี หรือผ่าตัด วิธีใด วิธีหนึ่งเพียงวิธีเดียวเพราะให้ผลการรักษาได้เท่าเทียมกัน แต่การฉายรังสีรักษา เป็นการให้รังสีกำลังสูง เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง สามารถใช้รักษามะเร็งกล่องเสียงระยะแรกให้หายขาดได้ และสามารถรักษากล่องเสียงไว้ได้ ทำให้ผู้ป่วยยังคงพูดได้เป็นปกติ ส่วนการผ่าตัด มักจะผ่าตัดกล่องเสียงออกบางส่วนเท่านั้น หลังผ่าตัดผู้ป่วยจะสามารถพูด และกินอาหารได้ตามปกติ โดยอาจมีเสียงแหบบ้าง
ถ้าเป็นระยะลุกลาม (ระยะที่ 3 และระยะที่ 4 ซึ่ง ยังไม่มีการแพร่กระจายเข้ากระแสโลหิต ) จะใช้การรักษาร่วมกัน หลายๆวิธี เช่น การผ่าตัดกล่องเสียงออกทั้งหมด รวมทั้งต่อมน้ำเหลืองที่โต หรือที่อยู่ใกล้เคียง ร่วมกับการฉายรังสี บางรายอาจใช้เคมีบำบัดร่วมด้วย เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง ซึ่งหลังผ่าตัดผู้ป่วยจะพูดไม่ได้เป็นปกติ แต่ส่วนใหญ่จะกินอาหารได้ปกติ ผู้ป่วยจะต้องฝึกการพูดแบบไม่มีกล่องเสียง โดยการกลืนลมเร็ว ๆ แล้วเอาลมจากกระเพาะอาหารย้อนผ่านหลอดอาหารออกมาเป็นเสียง ( esophageal speech) หรือใช้อุปกรณ์ช่วยพูด ( electrolarynx) ซึ่ง เป็นเครื่องแปลงการสั่นของกล้ามเนื้อเป็นเสียง หรือ อาศัยรูที่เจาะระหว่างหลอดลมและหลอดอาหาร
ทั้งนี้ แพทย์หู คอ จมูก, แพทย์รังสีรักษา และแพทย์อายุรกรรมด้านมะเร็ง จะเป็นผู้พิจารณาแนวทางวิธีการรักษา โดยประเมินจากความรุนแรง และ ระยะของมะเร็ง, ความพร้อมในด้านต่างๆของสถาบันที่ให้การรักษา รวมถึงสภาพของผู้ป่วยด้วย
ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งกล่องเสียง ขึ้นกับวิธีรักษา และผลข้างเคียงจะสูงขึ้น เมื่อใช้หลายๆวิธีรักษาร่วมกัน หรือเมื่อผู้ป่วยมีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน, โรคความดันโลหิตสูง, โรคไขมันในเลือดสูง, โรคหัวใจ, โรคที่ก่อให้มีการอักเสบเรื้อรังของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน เช่น โรคที่มีภูมิต้านทานต่อตนเอง หรือผู้ป่วยสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ หรือมีอายุมาก
การให้ยาเคมีบำบัดในผู้ป่วยมะเร็งกล่องเสียงนั้น จะช่วยลดอาการที่เกิดจากก้อนมะเร็งขนาดที่ใหญ่เกินกว่าการฉายรังสีเพียงอย่างเดียวจะควบคุมได้ และช่วยลดการแพร่กระจายของมะเร็งที่มีก้อนขนาดใหญ่ ด้วย การใช้ยาเคมีบำบัดร่วมกับการฉายรังสีในช่วงเวลาเดียวกัน สามารถทำให้ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กลงกว่าการให้การรักษาเพียงชนิดใดชนิดหนึ่ง การรักษาวิธีนี้อาจช่วยให้สามารถรักษากล่องเสียงไว้ได้
การเตรียมผู้ป่วยก่อนการรักษา
1. การตรวจเพื่อเตรียมพร้อมของผู้ป่วยสำหรับการดมยาสลบและการผ่าตัด เช่น การตรวจเลือด , ปัสสาวะ, คลื่นไฟฟ้าหัวใจ, เอ็กซเรย์ปอด เป็นต้น
2. การประเมินด้านทันตกรรม กรณีที่ต้องให้การรักษาด้วยการฉายแสง (อาจจะประเมินหลังการผ่าตัดก็ได้)
3. การประเมินภาวะทางโภชนาการ
4. การประเมินการพูดและการกลืน (อาจจะประเมินหลังการผ่าตัดก็ได้)
5 การตรวจการได้ยิน กรณีที่มีแผนจะให้ยาเคมีบำบัดที่อาจจะมีพิษต่อประสาทการได้ยิน (อาจจะประเมินหลังการผ่าตัดก็ได้)
ในช่วงรักษาโรคมะเร็งกล่องเสียง หรือภายหลังจากครบการรักษาแล้ว ควรดูแลตนเอง ดังนี้คือ
ภายหลังการรักษามะเร็งกล่องเสียง แพทย์อาจจะทำการนัดตรวจเป็นประจำ ทุก 1-2 เดือนในช่วงหนึ่งปีแรก เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีภาวะแทรกซ้อน หรือการกลับมาของมะเร็งอีกครั้ง โดยทำการตรวจร่างกาย ตรวจเลือด เอ๊กซเรย์ปอด บางครั้งอาจต้องทำ CT scan หรือ MRI ด้วย ปัจจุบันตามโรงพยาบาลใหญ่ จะมีสมาคมชมรมผู้ไร้กล่องเสียง ที่ส่งเสริมมิตรภาพบำบัด โดยให้ผู้ป่วยดูแลช่วยเหลือกัน ทั้งด้านกำลังใจ การดูแลสุขภาพ และการฝึกพูด ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งกล่องเสียงใหม่ ๆ โดยเฉพาะผู้ที่ถูกผ่าตัดกล่องเสียง พูดไม่ได้ สื่อสารลำบาก มักเสียกำลังใจ และรู้สึกท้อแท้สิ้นหวัง ญาติ ๆ ควรส่งเสริมให้ผู้ป่วยเข้าร่วมกิจกรรมของสมาคม/ชมรมดังกล่าว ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยมีกำลังใจ รู้จักดูแลตนเอง จนมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้
การป้องกันไม่ให้เป็นโรค
ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีป้องกันมะเร็งกล่องเสียงได้ 100 % แต่ควร
1. หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่การสูบบุหรี่ และการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม
2. หลีกเลี่ยงการสัมผัสสิ่งระคายเคือง เช่นใยหิน นิกเกิล ฝุ่นไม้ กรดกำมะถัน ควัน สารเคมี มลพิษ
3. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบทุกประเภท รวมทั้งผักและผลไม้
4. ดูแลสุขภาพให้สมบูรณ์แข็งแรง ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอทุกวัน หรือเล่นกีฬาเป็นประจำ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
มะเร็งกล่องเสียง มักมีอาการเสียงแหบเป็นสำคัญ ถ้าพบว่าผู้ป่วยมีอาการเสียงแหบ หรือมีอาการเจ็บคอนาน 2-3 สัปดาห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในผู้ชายสูงอายุที่ มีประวัติสูบบุหรี่จัด หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสมมานาน ควรรีบไปพบแพทย์ หู คอ จมูก เพื่อช่วยให้สามารถตรวจพบมะเร็งระยะแรก ซึ่งสามารถรักษาให้หายขาด และมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้
______________________________________________________________________