Last update: 16.04.2009
โรคหูตึงเฉียบพลันหรือหูดับ คือ ภาวะที่มีการสูญเสียการได้ยินชนิดประสาทรับฟังเสียงเสีย แบบทันทีทันใด ซึ่งมักพบในคนอายุน้อยและวัยกลางคน และพบในผู้หญิงบ่อยพอๆกับผู้ชาย
โรคหูตึงเฉียบพลัน
( Sudden Sensorineural Hearing Loss )
ผศ.นพ. ปารยะ อาศนะเสน
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ภาวะนี้บางคนเรียกว่า “โรคหูดับฉับพลัน” หมายถึง การที่ประสาทหูเกิดการเสื่อมทันทีทันใด หรือภายในระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งร้อยละ 85-90 ไม่ทราบสาเหตุ มีเพียงร้อยละ 10-15 เท่านั้นที่ทราบสาเหตุ ผู้ที่เป็นโรคนี้อาจมีอาการเพียงรู้สึกได้ยินน้อยลงเล็กน้อย หรืออาจจะรู้สึกสูญเสียการได้ยินมาก จนไม่ได้ยินในหูข้างที่เป็นเลยก็ได้ การสูญเสียการได้ยินชนิดประสาทรับฟังเสียงเสียดังกล่าวอาจเป็นเพียงชั่วคราว (เช่นได้ยินเสียงดังทำให้หูอื้อ และสักพัก หูจะหายอื้อ หรือรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาแอสไพริน, ยาขับปัสสาวะ แล้วหูอื้อ เมื่อยาดังกล่าวหมดฤทธิ์ อาการหูอื้อดังกล่าวจะหายไป) หรืออาจเป็นถาวรก็ได้ จนถึงขั้นหูหนวก ถ้าปล่อยทิ้งไว้ ไม่ได้รับการรักษา หรือได้รับการรักษาช้าเกินไป
โรคนี้พบได้ไม่บ่อย จากสถิติของโรงพยาบาลศิริราช พบภาวะนี้ร้อยละ 7.7 ของผู้ป่วยประสาทหูเสื่อมทั้งหมดที่มาพบแพทย์ ส่วนใหญ่มักพบในผู้ป่วยสูงอายุ (40 - 70 ปี) และมักเกิดที่หูข้างเดียว โดยพบในเพศชายเท่ากับเพศหญิง
สาเหตุ
อาการและอาการแสดง
ผู้ป่วยจะมีอาการหูอื้อ หรือการได้ยินลดลงในหูข้างที่เป็นอย่างเฉียบพลัน มักไม่ค่อยได้ยินเสียง เมื่อผู้พูดอยู่ไกล และมักได้ยินดีขึ้นในบรรยากาศที่เงียบสงัด ปราศจากเสียงรบกวน มักเป็นในหูข้างเดียว ถ้าเป็นทั้งสองข้าง ผู้ป่วยจะพูดดังกว่าปกติ อาจมีเสียงดังในหูซึ่งมักจะเป็นเสียงที่มีระดับความถี่สูง เช่น เสียงจิ้งหรีด เสียงจักจั่น หรือเวียนศีรษะร่วมด้วย ผู้ป่วยบางรายอาจกลัวเสียงดังๆ หรือทนฟังเสียงดังไม่ได้ (เสียงดังจะทำให้เกิดอาการปวดหู และจับใจความไม่ได้)
การวินิจฉัย
โรคนี้อาศัยการซักประวัติ, การตรวจร่างกาย และการส่งการสืบค้นเพิ่มเติมโดยแพทย์ การซักประวัติได้แก่ การสอบถามอาการทางหู และสาเหตุที่เป็นไปได้ทั้งหมด ที่จะทำให้เกิดประสาทหูเสื่อมชนิดเฉียบพลัน การตรวจร่างกายได้แก่ การตรวจหูด้วยเครื่องส่องหู (otoscope) เพื่อดูพยาธิสภาพของช่องหู, เยื่อบุแก้วหู และหูชั้นกลาง และบริเวณรอบหู และการตรวจร่างกายโดยทั่วๆไปที่พยายามหาสาเหตุของประสาทหูเสื่อมชนิดเฉียบพลัน การสืบค้นเพิ่มเติมได้แก่ การตรวจเลือดเพื่อหาความผิดปกติของเคมีในเลือด, การตรวจปัสสาวะ, การตรวจการได้ยิน เพื่อยืนยันและประเมินระดับความรุนแรงของประสาทหูเสื่อมชนิดเฉียบพลัน, การตรวจคลื่นสมองระดับก้านสมอง และการถ่ายภาพรังสี เช่น เอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์สมอง หรือกระดูกหลังหู หรือตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในผู้ป่วยบางราย
การรักษา
ยาลดการอักเสบจำพวกสเตียรอยด์ (oral prednisolone) มีจุดมุ่งหมายลดการอักเสบของประสาทหู และเซลล์ประสาทหู ซึ่งถ้าไม่มีข้อห้ามในการใช้ นิยมให้รับประทานยาสเตียรอยด์ในขนาด 0.5-1 mg/kg ต่อวัน ประมาณ 1 สัปดาห์ ถ้าการได้ยินดีขึ้น อาจรับประทานยาสเตียรอยด์ต่อจนครบ 2 สัปดาห์ แล้วค่อยๆลดยาลง ถ้ารับประทานยาไปแล้ว 1 สัปดาห์ ระดับการได้ยินไม่ดีขึ้น อาจพิจารณาฉีดยาสเตียรอยด์เข้าในหูชั้นกลางโดยผ่านทางเยื่อแก้วหู (intratympanic steroid injection) และค่อยๆลดยาสเตียรอยด์ชนิดรับประทานลง หรือในรายที่มีข้อห้ามในการใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดรับประทาน อาจพิจารณาฉีดยาสเตียรอยด์เข้าไปในหูชั้นกลางตั้งแต่ต้น หรืออาจให้การรักษาร่วมกันทั้งรับประทานยาสเตียรอยด์ และฉีดยาสเตียรอยด์เข้าในหูชั้นกลางก็ได้
ยาขยายหลอดเลือด มีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มเลือดไปเลี้ยงหูชั้นในมากขึ้น เช่น nicotinic acid, betahistine
ยาวิตามิน อาจช่วยบำรุงประสาทหูที่เสื่อม
ยาลดอาการเวียนศีรษะ (ถ้ามีอาการ)
การนอนพัก มีจุดประสงค์เพื่อลดการรั่วของน้ำในหูชั้นในเข้าไปในหูชั้นกลาง (ถ้ามี) แนะนำให้ผู้ป่วยนอนพัก โดยยกศีรษะสูงประมาณ 30 องศาจากพื้นราบเพื่อให้มีความดันในหูชั้นในน้อยที่สุด ไม่ควรทำงานหนัก หรือออกกำลังกายที่หักโหม บางรายแพทย์อาจแนะนำให้นอนพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลประมาณ 1-2 สัปดาห์
แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยตรวจวัดระดับการได้ยินเป็นระยะๆเพื่อประเมินผลการรักษา และอาจนัดติดตามผู้ป่วยในระยะยาว เนื่องจากผู้ป่วยบางรายที่ไม่ทราบสาเหตุ อาจพบสาเหตุในภายหลังได้
นอกจากนั้น ผู้ป่วยควรป้องกันไม่ให้ประสาทหูเสื่อมมากขึ้น โดย
- หลีกเลี่ยงเสียงดัง
- ถ้าเป็นโรคเบาหวาน, ความดันโลหิตสูง, ไขมันในเลือดสูง, โรคไต, โรคกรดยูริกในเลือดสูง, โรคซีด, โรคเลือด ควบคุมโรคให้ดี
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่มีพิษต่อประสาทหู เช่น aspirin, aminoglycoside, quinine
- หลีกเลี่ยงอุบัติเหตุ หรือการกระทบกระเทือนบริเวณหู
- หลีกเลี่ยงการติดเชื้อของหู หรือการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน
- ลดอาหารเค็ม หรือเครื่องดื่มบางประเภทที่มีสารกระตุ้นประสาท เช่น กาแฟ, ชา, เครื่องดื่มน้ำอัดลม (มีสารคาเฟอีน), งดการสูบบุหรี่ (มีสารนิโคติน)
- พยายามออกกำลังกายสม่ำเสมอ ลดความเครียด วิตกกังวล
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
ส่วนใหญ่ประสาทหูเสื่อมชนิดเฉียบพลัน แบบไม่ทราบสาเหตุ ถ้าผู้ป่วยมาพบแพทย์เร็วโดยเฉพาะใน 2 สัปดาห์แรกหลังเป็น (golden period) และได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม จะมีโอกาสสูง ที่จะมีการได้ยินกลับมาเป็นปกติได้ (ส่วนใหญ่การได้ยินมักจะดีขึ้น ภายใน 2 สัปดาห์แรกของการสูญเสียการได้ยิน) ดังนั้นเมื่อรู้สึกว่ามีการได้ยินในหูท่านลดน้อยลงอย่างเฉียบพลัน อย่างนิ่งนอนใจนะครับ รีบมาพบแพทย์หู คอ จมูกโดยเร็ว เพราะถ้าให้การรักษาช้าไป ไม่ทันท่วงที อาจเกิดความพิการในหูท่านอย่างถาวรได้
__________________________________________________