Last update: 16.04.2009
เป็น การผ่าตัดที่นิยมทำในการรักษา อาการนอนกรน และ/ หรือมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ โดยเป็นการนำเข็มพิเศษ เข้าไปในเนื้อเยื่ออ่อน เช่น เพดานอ่อน ต่อมทอนซิล โคนลิ้น หรือ เยื่อบุจมูก เพื่อส่งคลื่นความถี่สูง (radiofrequency) ที่สามารถเปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อนให้แก่เนื้อเยื่อรอบๆ ซึ่งจะทำให้เกิดการสูญเสียสภาพ และการตายของเนื้อเยื่อ (coagulation necrosis) ขึ้นภายใน 1-2 เดือน หลังจากนั้นจะเกิดเนื้อเยื่อพังผืด เกิดการหด และลดปริมาตรของเนื้อเยื่อ (volume contraction)
ผศ.นพ. ปารยะ อาศนะเสน
สาขาโรคจมูกและโรคภูมิแพ้
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
เป็นการผ่าตัดที่นิยมทำในการรักษาอาการนอนกรน (snoring) และ/ หรือมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (obstructive sleep apnea) โดยเป็นการนำเข็มพิเศษ เข้าไปในเนื้อเยื่ออ่อน เช่น เพดานอ่อน (soft palate), ต่อมทอนซิล (tonsils), โคนลิ้น (tongue base) เพื่อส่งคลื่นความถี่สูง (radiofrequency) ที่สามารถเปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อนให้แก่เนื้อเยื่อรอบๆ ซึ่งจะทำให้เกิดการสูญเสียสภาพ และการตายของเนื้อเยื่อ (coagulation necrosis) ขึ้นภายใน 1-2 เดือน หลังจากนั้นจะเกิดเนื้อเยื่อพังผืด เกิดการหด และลดปริมาตรของเนื้อเยื่อ (volume contraction) วิธีนี้สามารถลดขนาดเนื้อเยื่อต่างๆ ที่อุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้ทางเดินหายใจกว้างขึ้น อาการนอนกรนและ/หรือ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ น้อยลง ผู้ป่วยหายใจได้สะดวกขึ้น วิธีนี้สามารถใช้เป็นการรักษาเสริมกับการผ่าตัดตกแต่งกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่ออ่อนบริเวณเพดานอ่อน, ลิ้นไก่, ผนังคอหอยให้ตึงและกระชับขึ้น (uvulopalatopharyngoplasty: UPPP) ภายใต้การดมยาสลบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา นอกจากนั้นอาจใช้ คลื่นความถี่วิทยุผ่าตัดเอาเนื้อเยื่อที่หย่อนยาน บริเวณลิ้นไก่และเพดานอ่อนออกทีละน้อยได้ด้วย (radiofrequency assisted uvulopalatoplasty: RAUP) ในรายที่อาการนอนกรนมีสาเหตุมาจากการอุดกั้นระดับเพดานอ่อนและลิ้นไก่ (uvula)
ปริมาณความร้อนที่เนื้อเยื่อได้รับจะต่ำกว่าการใช้เลเซอร์ ซึ่งจะทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อรอบๆ น้อยกว่า ดังนั้นทำให้อาการปวดหรือเจ็บแผลหลังผ่าตัด น้อยกว่าการใช้เลเซอร์ ได้มีการศึกษาผลของคลื่นความถี่วิทยุ ในรายที่อาการนอนกรนมีสาเหตุมาจากการอุดกั้นระดับเพดานอ่อน พบว่ามีการลดลงของอาการนอนกรน และอาการง่วงผิดปกติในเวลากลางวัน การศึกษาเปรียบเทียบอาการปวดหลังทำการผ่าตัดรักษาอาการนอนกรนด้วยคลื่นความถี่วิทยุ, เลเซอร์ (laser assisted uvulopalatoplasty: LAUP) และการผ่าตัดตกแต่งกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่ออ่อนบริเวณเพดานอ่อน, ลิ้นไก่, ผนังคอหอยให้ตึงและกระชับขึ้น (UPPP) พบว่าอาการปวดหลังทำคลื่นความถี่วิทยุ น้อยกว่าการผ่าตัดชนิดอื่นชัดเจน
วิธีนี้สามารถทำได้โดยใช้ยาชาเฉพาะที่ หรือภายใต้การดมยาสลบ ถ้าทำโดยใช้ยาชาเฉพาะที่ ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล ผลของการลดขนาดของเนื้อเยื่อดังกล่าวจะเห็นชัดเจนภายใน 4-6 สัปดาห์ อาจทำซ้ำได้อีก ถ้าผลยังไม่เป็นที่น่าพอใจ วิธีนี้ง่ายในการทำ ผลข้างเคียงน้อย และได้ผลดี การผ่าตัดชนิดนี้เป็นการผ่าตัดผ่านทางช่องปาก แพทย์จะใส่เครื่องมือทางช่องปาก ผู้ป่วยจึงไม่มีบาดแผลใดๆ ที่มองเห็นได้จากภายนอก การผ่าตัดชนิดนี้ควรทำเมื่อผู้ป่วยมีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ดี และพักผ่อนอย่างเพียงพอ ไม่เป็นหวัด หรือมีการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจเฉียบพลัน
ก่อนผ่าตัด แพทย์จะตรวจความสมบูรณ์ของร่างกาย และประเมินความพร้อมของผู้ป่วยก่อนผ่าตัด เช่นการตรวจเลือด ปัสสาวะ ถ่ายภาพรังสีปอด หรือ ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ แล้วแต่ความจำเป็นในผู้ป่วยแต่ละราย สำหรับผู้ป่วยที่รับประทานยาบางชนิด เช่น ยาแอสไพริน หรือ ยาต้านการแข็งตัวของเลือด แพทย์อาจให้หยุดยาดังกล่าวก่อนผ่าตัดหลายวัน ถ้าแพทย์ทำผ่าตัดโดยใช้ยาชาเฉพาะที่ ผู้ป่วยสามารถมาโรงพยาบาลวันที่นัดทำผ่าตัดได้เลย ในบางรายแพทย์อาจแนะนำให้นอนในหอผู้ป่วยหลังผ่าตัด 1 คืน เพื่อสังเกตการหายใจหลังผ่าตัด
การใช้ยาชาเฉพาะที่ มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ใจสั่น หน้ามืด เป็นลม หูอื้อ แต่อาการเหล่านี้มักหายได้เอง อาจหายใจลำบาก เนื่องจากทางเดินหายใจบวม ในรายที่มีอาการดังกล่าวรุนแรงมาก อาจต้องใส่ท่อช่วยหายใจ (endotracheal tube) ไว้หลังผ่าตัดเสร็จ และนอนในหอผู้ป่วยหลังผ่าตัด
การดมยาสลบ ผู้ป่วยจะต้องเข้ามาอยู่ในโรงพยาบาล 1 วันก่อนผ่าตัด เพื่อวิสัญญีแพทย์จะได้เตรียมความพร้อมสำหรับการดมยาสลบในวันรุ่งขึ้นที่จะผ่าตัด คืนวันก่อนผ่าตัดแพทย์จะให้งดน้ำและอาหารหลังเที่ยงคืนเพื่อป้องกันการสำลักอาหาร และน้ำลงปอดเวลาดมยาสลบ การดมยาสลบ มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น เสียงแหบจากสายเสียงบวม หายใจลำบาก ปอดอักเสบจากการสูดสำลัก ในบางรายแพทย์อาจแนะนำให้นอนในหออภิบาลวิสัญญี (ICU) หลังผ่าตัด 1 คืน เพื่อสังเกตการหายใจหลังผ่าตัด
หลังผ่าตัด
ภาวะแทรกซ้อน โรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้คือ เลือดออกจากแผลผ่าตัด ซึ่งถ้าออกมากจะต้องไปทำการห้ามเลือดในห้องผ่าตัด การหายใจลำบากจากการบวมของเนื้อเยื่อรอบๆ บริเวณผ่าตัด หรือแผลผ่าตัดติดเชื้อ แต่พบได้น้อย ผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัด เนื่องจากมีข้อบ่งชี้ของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่อ้วนมาก มีโรคหัวใจหรือโรคปอดร่วมด้วย มีดัชนีของการหยุดหายใจขณะหลับ (apnea index) สูง มีระดับออกซิเจนในเลือดต่ำมากในเวลาหลับที่ตรวจพบตั้งแต่ก่อนผ่าตัด จะเป็นผู้ที่มีอัตราเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่าผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดที่ไม่มีภาวะดังกล่าว
ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ ไม่พบบ่อยแต่ควรทราบและระวังล่วงหน้าคือ การหายใจลำบากจากการบวมในช่องคอ ผู้ป่วยที่มีอัตราเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้จะได้รับการแนะนำให้นอนในหอผู้ป่วยหลังผ่าตัด 1 คืน เพื่อสังเกตการหายใจหลังผ่าตัด
โดยทั่วไป ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้หลังผ่าตัดโดยไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ถ้าทำผ่าตัดโดยใช้ยาชาเฉพาะที่ การปฏิบัติตัวที่ถูกต้องภายหลังการผ่าตัดมักทำให้การผ่าตัดรักษาได้ผลดี
การนัดตรวจหลังออกจากโรงพยาบาล แพทย์จะนัดมาดูแผล ประมาณ 1 สัปดาห์หลังผ่าตัด และหลังจากนั้น 4-6 สัปดาห์ แพทย์จะนัดมาเพื่อประเมินผลการรักษา ถ้าอาการต่างๆ เช่น นอนกรน และ/หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับไม่ดีขึ้น แพทย์อาจจะพิจารณาการรักษาซ้ำ หรือ แนะนำทางเลือกในการรักษาอื่น ๆ ที่เหมาะสมมากกว่าต่อไป